ความเป็นมา

นยํ นยติ เมธาวี

คนมีปัญญาย่อมแนะนำทางที่ควรแนะนำ

A wise man's instruction is instructive

การศึกษาของนายทหารเรือ เริ่มมีมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๕๐ ในสมัยที่ พลเรือเอก กรมหลวงนครสวรรค์วรพิต เป็นผู้สำเร็จราชการ กระทรวงทหารเรือเมื่อ นักเรียนนายเรือได้รับยศเป็นนายทหารสัญญาบัตร และรับราชการในเรือแล้ว อย่างน้อย ๖ เดือน ส่งให้เข้าเรียน ในโรงเรียนการอาวุธ ทั้ง ๒ พรรค คือ พรรคนาวิน และพรรคกลิน ต่อจากนั้นเมื่อมียศ ไม่เกินนายเรือโท ผู้ช่วย หรือเรือเอกในปัจจุบัน จึงเข้าเรียน โรงเรียนชั้นสูงนายเรือ หรือ โรงเรียนชั้นสูงช่างกล ระยะเวลาศึกษา ๑ ปี โรงเรียนที่จัดเป็นโรงเรียนชั้นสูงในสมัยนั้น คือ โรงเรียนเสนาธิการ ผู้ที่จะเข้าโรงเรียนนี้ได้ต้องเป็น นายทหารเดินเรือ ซึ่งเป็นผู้บังคับการเรือยศไม่ต่ำกว่าเรือโท (คือนาวาตรีในปัจจุบัน) และได้รับประกาศนียบัตรจากโรงเรียนอาวุธมาแล้ว ๒ ปี ทั้งนี้ตามข้อบังคับทหารเรือที่ ๓/๗๓๑๔ ลง ๒๒ ธันวาคม ๒๔๕๐ ว่าด้วยการศึกษาสำหรับนายทหารในกรมทหารเรือ ข้อบังคับนี้ได้เลิกใช้ใน พ.ศ.๒๔๖๗ เมื่อกระทรวงทหารเรือได้ออกข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาของโรงเรียนนายทหารเรือที่ ๒๔/๒๔๖๗/๑๘๙๑๐ ลง ๕ มกราคม ๒๔๖๗

เมื่อได้วางโครงการณ์จัดตั้งโรงเรียนนายทหารเรือขึ้นพร้อมแล้วในวันที่ ๘ มกราคม ๒๔๖๗ กระทรวงทหารเรือจึงได้ลงคำสั่งที่ ๓๘๔ /๒๔๖๗/๐๙๑๓๑ ให้นายทหารเข้าศึกษาในโรงเรียน นับเป็น นทน.รร.สธ.ทร. รุ่นที่ ๑ เมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๔๖๘ นายทหารเรือที่เข้าศึกษาต้องมียศไม่สูงกว่านาวาตรี และไม่ต่ำกว่าเรือเอก ขณะนั้น รร.สธ.ทร. คงมีแต่นายทหารพรรคนาวินเท่านั้นที่เข้าศึกษา พลเรือตรีพระยาราชวังสัน ได้ให้โอวาทแก่นายทหารนักเรียนในวันทำพิธีเปิด โรงเรียนนายทหารเรือ มีใจความตอนหนึ่งว่า … การที่ได้ให้นายทหารเรือกลับเจ้ามาศึกษาในโรงเรียนนายทหารเรือนี้ ก็เพื่อจะได้รู้จักกิจการของทหารเรือให้กว้างขวางออกไป จะได้ปฏิบัติการและติดต่อกับต่างประเทศในเวลาปกติ และเพื่อรู้จักปฏิบัติการตามหน้าที่ในเวลาสงครามได้ด้วย… ตั้งแต่เปิดโรงเรียนนายทหารขึ้นครั้งแรกดังกล่าวแล้ว ในปีต่อๆ มา กระทรวงทหารเรือก็ได้ลงคำสั่ง ให้นายทหารเรือเข้าศึกษาเป็นรุ่น ๆ ตามโอกาสอันเหมาะสม จนถึง พ.ศ.๒๔๘๓ นับเป็นรุ่นที่ ๑๑ การศึกษาของนักเรียนนายทหารรุ่นนี้มิได้เป็นไปโดยราบรื่น เนื่องจากได้เกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส กองทัพเรือจึงได้มีคำสั่งที่ ๑๓๒/๘๓ ลง ๒๘ พ.ย.๒๔๘๓ เรื่องเตรียมฝึกภาคพิเศษ กองทัพเรือจึงได้มีคำสั่งที่ ๑๓๒/๘๓ ลง ๒๘ พ.ย.๒๔๘๓ เรื่องเตรียมฝึกภาคพิเศษ และคำสั่งบรรจุตำแหน่งนายทหารตลอดจนคำสั่งลับอื่น ๆ ทำให้นักเรียนนายทหารต้อง แยกย้ายกันไปจนโรงเรียนนายทหารเรือต้องปิดการศึกษา ตั้งแต่ ๒๙ พ.ย.๒๔๘๓ เมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้ว กองทัพเรือได้มีคำสั่งที่ ๙๘/๘๔ ลง ๑๔ ก.ค.๒๔๘๔ และ ๑๐๐/๘๔ ลง ๑๕ ก.ค.๒๔๘๔ เรื่องย้ายและบรรจุตำแหน่งนายทหารในการย้ายครั้งนี้ได้สั่ง ให้บรรดานักเรียนนายทหารกลับเข้าโรงเรียนนายทหารเรือเพื่อศึกษาต่อไปตั้งแต่ ๑๖ ก.ค.๒๔๘๖

ต่อมาได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ประเทศไทยเข้าร่วมสงครามด้วย นักเรียนนายทหารต้องลงประจำเรือ ตามคำสั่งกองทัพเรือที่ ๑๙๘/๘๔ ลง ๒๘ พ.ย.๒๔๘๔ และที่ ๒๐๗/๘๔ ลง ๘ ธ.ค.๒๔๘๔ เรื่องย้ายและบรรจุตำแหน่งนายทหารเข้าประจำ ทัพเรือ เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลายความคับขันลงกองทัพเรือจึงได้มีคำสั่งที่ ๑๐๖/๘๕ ลง ๒๘ ก.ย.๒๔๘๕ ให้นายทหารเข้าเรียนต่อจนจบหลักสูตรอีก ๒ เดือน โดยให้ไปรับการศึกษาที่โรงเรียนตั้งแต่เวลา ๑๓๐๐ ถึง ๑๖๐๐ ทุกวัน เว้นวันอาทิตย์ ทั้งนี้แต่ ๒๘ ก.ค.๒๔๘๕ เป็นต้นมาจนจบการศึกษา เมื่อสถานการณ์ของสงครามได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น การศึกษาของโรงเรียนนายทหารเรือจึงจำต้องหยุดชงักไปชั่วคราวอีก และได้เปิดขึ้นใหม่เมื่อ ๒๒ พ.ค.๒๔๘๗ ณ สน.สส. นับเป็นรุ่นที่ ๒ ตามคำสั่งกองทัพเรือที่ ๕๔/๒๔๘๗ ลง ๙ พ.ย.๒๔๘๗ เรื่องเปิดการศึกษาของ รร.นายทหารเรือ รุ่นนี้นับเป็นรุ่นเดียวที่เรียนที่สัตหีบ โรงเรียนายทหารเรือได้มาตั้งกองอำนวยการอยู่ที่ตึกสามสมอส่วนห้องเรียนนั้นได้ขอยืมห้องของโรงเรียนนายเรือเดิมมาใช้ ๒ ห้อง และได้เปิดการสอนเมื่อ ๒๐ ส.ค.๙๐ นับเป็นรุ่นที่ ๑๓ เนื่องจากตึกสามสมอได้ถูกรื้อและสร้างเป็นตึกกองทัพเรือ โรงเรียนนายทหารเรือจึงได้ย้ายจากตึกสามสมอมาอยู่ชั้นล่างของตึกกรมยุทธศึกษาทหารเรือ เมื่อ ๒๐ ส.ค.๙๒ และเปิดการศึกษารุ่นที่ ๑๔ ขึ้น ระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๔ - ๒๔๙๖ สถานการณ์ของบ้านเมืองและความจำเป็นบางประการของกองทัพเรือ รร.นายทหารเรือได้ปิดการศึกษา ๔ ปี และได้เปิดทำการศึกษาใหม่เมื่อ ๑๔ มิ.ย.๙๗ นับเป็นรุ่นที่ ๑๕

ใน พ.ศ.๒๔๙๙ ได้มีการจัดระเบียบราชการกองทัพเรือใหม่โรงเรียนนายทหารเรือเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ อยู่ในส่วนการศึกษาไม่ขึ้นต่อกรมยุทธศึกษาทหารเรือต่อไป ดังนั้นโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือจึงกลายเป็นโรงเรียนหนึ่งอยู่ใน โรงเรียนนายทหารเรือมิได้ใช้ชื่อโรงเรียนนายทหารเรือเหมือนเดิม กองทัพเรือได้มีคำสั่ง ทร.ที่ ๑๕๒/๙๙ ลง ๑ พ.ค.๙๙ ให้นายทหารพรรคนาวิน จำนวน ๒๐ นาย เข้าศึกษาใน รร.สธ.ทร. นับเป็นรุ่นที่ ๑๗ และรุ่นนี้เองที่เปิดโอกาสให้เหล่าทัพอื่นเข้ามาร่วมเรียนด้วยเป็นครั้งแรก กองทัพอากาศได้ส่งนายทหารยศนาวาอากาศตรี มาร่วมศึกษาด้วย ๒ นาย สำหรับสถานศึกษาคือ อาคารไม้ชั้นเดียวข้างอาคารกรมเสนาธิการทหารเรือเดิม โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือได้ย้ายมาอยู่ที่ชั้นบนตึกกรมยุทธศึกษาทหารเรือ เมื่อ ๒ ธ.ค.๐๒ จนถึง ๒๗ ม.ค.๑๔ และนายทหารนักเรียน รร.สธ.ทร. รุ่นที่ ๓๑ นับเป็นรุ่น สุดท้ายที่เรียน ณ สถานที่นี้ โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือได้ย้ายตามโรงเรียนนายทหารเรือมาอยู่ ณ ตึกสร้างใหม่ บริเวณป้อมวิชัยประสิทธิ์ เมื่อ ๒๘ ม.ค.๑๔ นทน.รร.สธ.ทร. รุ่นที่ ๓๑ นับเป็นรุ่นแรกที่ได้เข้าศึกษาที่ตึกใหม่

ในปี ๒๕๒๖ สมัยที่ พลเรือเอก สุภา คชเสนี ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ โรงเรียนนายทหารเรือ ได้มีความริเริ่มที่จะย้ายโรงเรียนนายทหารเรือไปยังสถานที่ แห่งใหม่ เนื่องจากอาคารสถานที่เดิมคับแคบไม่เพียงพอที่จะรับนายทหารนักเรียนซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี รวมทั้งไม่สง่างามและไม่เหมาะสมที่จะเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูงสุดของกองทัพเรือ แต่ความคิดริเริ่มดังกล่าวยังมิสามารถดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จได้เนื่องจากองทัพยังขาดแคลนงบประมาณการศึกษาปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อให้ทันกับวิทยาการ เทคโนโลยี และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โรงเรียน นายทหารเรือได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาปรับปรุงอัตราโรงเรียนนายทหารเรือใหม่ ซึ่งนอกเหนือจากอัตราและการแบ่งส่วนราชการใหม่แล้ว คณะกรรมการชุดนี้ได้เสนอกองทัพเรือขอเปลี่ยนชื่อ โรงเรียนนายทหารเรือ เป็น สถาบันวิชาการทหารเรือ ชั้นสูง รวมทั้งกำหนดภารกิจใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากโรงเรียนนายทหารเรือเป็นสถาบัน การศึกษาชั้นสูงของกองทัพเรือ และอยู่ในระดับเดียวกับ สถาบันวิชาการทหารบก ชั้นสูง ของกองทัพบก และ สถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง ของกองทัพอากาศ มีฐานะและศักดิ์ศรีทัดเทียมกัน การใช้ชื่อต่างกันอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสถาบันการศึกษาต่างระดับกัน อีกประการหนึ่ง ชื่อ โรงเรียนนายทหารเรือ มีส่วนคล้ายกับ โรงเรียนนายเรือ ทำให้มีผู้เข้าใจว่าเป็นโรงเรียนเดียวกันเสมอ กองทัพเรือได้ให้ความเห็นชอบเมื่อ ๒๔ เมษายน ๒๔๒๖ เปลี่ยนชื่อ โรงเรียนนายทหารเรือ เป็น สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง พร้อมทั้งกำหนดภารกิจใหม่โดยเสนอกระทรวงกลาโหมขอแก้ไขพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ และกำหนดหน้าที่ส่วนราชการของกองทัพเรือเสียใหม่ ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๗ ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพเรือ กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๗ ให้เปลี่ยนชื่อ โรงเรียนนายทหารเรือ เป็น สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ๑๓ เมษายน ๒๕๒๗ ตามราชกิจนุเบกษา ฉบับพิเศษเล่มที่ ๑๐๑ ตอนที่ ๔๘ ลงวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๒๗

ความคิดริเริ่มของ พลเรือเอก สุภา คชเสนี ได้บรรลุผลสำเร็จในสมัยที่ พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ โดยกองทัพเรือได้กำหนดนโยบายให้หน่วยงานบางหน่วยย้ายออกไปจากบริเวณพระราชวังเดิม เนื่องจากได้เกิดความแออัดมากขึ้นเป็นลำดับ สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูงที่เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องย้ายออกไปตามนโยบายดังกล่าว โดยกองทัพเรือได้งบประมาณปี ๒๕๓๑, ๒๕๓๒ และ ๒๕๓๔ เพื่อจัดซื้อที่ดิน จำนวน ๒๔๙ ไร่ ณ ตำบลศาลายา อำเภอ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ส่วนอาคารนั้นใช้งบประมาณจากปี ๒๕๓๓ อาคารสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง ที่ก่อสร้างใหม่นี้เป็นอาคาร ๖ ชั้น กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร มีห้องเรียนขนาดใหญ่ ๔ ห้อง รับนักเรียนได้ ๘๒๘ คน และขนาดกลาง ๖ ห้อง รับนักเรียนได้ ๓๐๐ คน รวมทั้งสิ้น ๕๒๘ คน ซึ่งนับว่าเพียงพอที่จะเปิดการศึกษาได้ทั้ง ๘ หลักสูตรที่รับผิดชอบได้พร้อมกัน นอกจากนั้นยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการศึกษาอื่น ๆ เช่น ห้องสมุด ห้องสัมมนา ห้องฝึกจำลองยุทธ์แบบอิเล็กทรอนิกส์ และที่ทำงานของอาจารย์และเจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ รวมทั้งห้องประชุมใหญ่ขนาด ๕๐๐ คน ซึ่งกองทัพเรือสามารถใช้เป็นส่วนรวมได้ในกรณีที่จำเป็นจึงกล่าวได้ว่าอาคารสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง นี้เป็นอาคารที่สง่างามเหมาะสม ที่จะเป็นสถานศึกษาระดับสูงของกองทัพเรือเป็นที่ภาคภูมิใจของข้าราชการและผู้ที่เข้ารับการศึกษาอย่างแท้จริง และยังมีที่ดินเหลือกว้างขวางพอที่จะขยายออกไปอีกตามความจำเป็น การก่อสร้างอาคารสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง ได้แล้วเสร็จและทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๖ อันเป็นวันคล้ายวันเปลี่ยนชื่อหน่วยใหม่ นายทหารนักเรียน โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ รุ่นที่ ๕๓ นับเป็นรุ่นแรกที่เข้าศึกษา ณ อาคารหลังใหม่แห่งนี้ จวบจนปัจจุบัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รร.สธ.ทร. จะอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้อีกต่อไป ชั่วกาลนาน