พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ   ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฏหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
          จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
          มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๗”
          มาตรา ๒ พระราชบัญญัติให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
          มาตรา ๓ วิชาการพระพุทธศาสนา หมายความว่า วิชาการซึ่งจัดให้พระภิกษุสามเณรศึกษาตามหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง

(๒) หลักสูตรปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต ของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูชูปถัมภ์

(๓) หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต ของมหาจุฬาลงกรณราช-วิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

มาตรา ๔ ให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา

(๑)    ตามหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง เปรียญธรรมเก้าประโยค มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรีเรียกว่า “เปรียญธรรมเก้าประโยค” ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ.๙”

(๒)    ตามหลักสูตรปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตจากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี เรียกว่า “ศาสนศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อว่า “ศน.บ.”

(๓)    ตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตจากมหาจุฬาลงกรณราช-วิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรีเรียกว่า “พุทธศาสตร-บัณฑิต” ใช้อักษรย่อว่า “พธ.บ.”

มาตรา ๕ นอกจากปริญญาตามมาตรา ๔ พระภิกษุสามเณรซึ่งได้ศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนา อาจได้รับประกาศนียบัตรรับรองความรู้ตามหลักสูตร ที่คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ ให้ความเห็นชอบ

มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์คณะหนึ่งประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานกรรมการ แม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง นายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย สภานายกมหา-จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย อธิบดีกรมการฝึกหัดครู อธิบดีกรมการศาสนา อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน อธิบดีกรมวิชาการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติเป็น กรรมการ กับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม

ให้คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์เลือกกรรมการผู้หนึ่งเป็นรองประธานกรรมการ

ให้อธิบดีกรมการศาสนา เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ และให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ 

มาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้  ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งทรงแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว

มาตรา ๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑)    ตาย

(๒)    ลาออกหรือ 

(๓)    สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก 

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทน โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมได้ และให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน 
          มาตรา ๙ การประชุมของคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการ ไม่มาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการผู้หนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการผู้หนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด 

มาตรา ๑๐ คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ 

(๑)    กำหนดนโยบายและแผนการจัดการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนา   ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

(๒)    กำหนดมาตรฐานและให้ความเห็นชอบหลักสูตรวิชาการพระพุทธศาสนา

(๓)  กำหนดพื้นความรู้ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์การเข้าศึกษา ระยะเวลาการศึกษา การสอบและเงื่อนไขในการรับปริญญาหรือประกาศนียบัตร

(๔) ควบคุมดูแลการจัดการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนา ให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นหลักและป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนแปลงพระธรรมวินัยให้ผิดไปจากพระบาลีในพระไตรปิฎก

(๕) วินิจฉัยสั่งการเพื่อยับยั้งหรือยุติการดำเนินกิจการที่ขัดต่อพระธรรมวินัย หรือขัดต่อกฏหมายระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของสถานศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาตามพระราชบัญญัตินี้

(๖) วางระเบียบและออกข้อบังคับหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๑ ผู้ใดไม่มีสิทธิ์ใช้ปริญญาหรือประกาศนียบัตร หรืออักษรย่อปริญญาตามพระราชบัญญัตินี้ กระทำการเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ์ดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๒ ให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา ตามหลักสูตรพระปริยัติ ธรรมแผนกธรรมแผนฃบาลีสนามหลวง เปรียญธรรมเก้าประโยค ปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตจากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรม-ราชูปถัมภ์ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรีตาม มาตรา ๔ 

มาตรา ๑๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประจวบ สุนทรางกูร
รองนายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ

โดยที่พระภิกษุสามเณร   ซึ่งได้ศึกษาและสอบได้เปรียญธรรมเก้าประโยค ตามหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และแผนกบาลีสนามหลวงของ   คณะสงฆ์ปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต ตามหลักสูตรปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย    ในพระบรมราชูปถัมภ์   หรือปริญญา พุทธศาสตรบัณฑิต ตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย   ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เทียบขั้นบัณฑิตด้านสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฝ่ายอาณาจักรสมควรกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรทั้งสามนี้    ให้สูงเท่ากับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยฝ่ายอาณาจักร     จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้