พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า 
         โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา 
         จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้ 

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา (ฉบับที่ ๒) พ. ศ. ๒๕๔๐”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป 

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ. ศ. ๒๕๒๗ และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน 

“มาตรา ๓ วิชาการพระพุทธศาสนา หมายความว่า วิชาการซึ่งจัดให้ พระภิกษุสามเณรศึกษาตามหลักสูตร พระปริยัติธรรมแผนกธรรม และแผนกบาลีสนามหลวง”

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ. ศ. ๒๕๒๗ และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔ ให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนาตามหลักสูตร พระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง เปรียญธรรมเก้าประโยค มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี เรียกว่า “เปรียญธรรมเก้าประโยค” ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ. ๙” 

มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๗ และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์คณะหนึ่ง ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานกรรมการ แม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ อธิบดีกรมการศาสนา อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน อธิบดีกรมวิชาการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินเจ็ดคนซึ่ง สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเป็นกรรมการ

ให้คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์เลือกกรรมการผู้หนึ่งเป็นรองประธานกรรมการ

ให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ และให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์” 


        
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
นายกรัฐมนตรี


             หมายเหตุ  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ เนื่องจากได้มีการตรา พระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อดำเนินงานด้านการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนา ตามหลักสูตรปริญญาศาสนศาสตร-บัณฑิต และพุทธศาสตรบัณฑิตขึ้นโดยเฉพาะแล้ว    สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในพระราชบัญญัติ กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา   พ.ศ. ๒๕๒๗ ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนา ตามหลักสูตรปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตและพุทธศาสตรบัณฑิต ตลอดจนองค์ประกอบ   ของคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์    ให้เหมาะสมและสอดคล้อง    กับหลักการจัดตั้งมหาวิทยาลัยดังกล่าวจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติ