การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกภาษาบาลี เป็นพระราชภาระของพระมหากษัตริย์ ทรงจัดให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนตามกำลังสติปัญญา สืบเนื่องเป็นพระราชกรณียกิจมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนับแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงสมัยรัชกาล ที่ ๕ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงรับพระราชภาระอยู่โดยสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๒ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นอกจากพระองค์จะทรงมีพระราชดำริให้สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดพระเชตุพนฯ จัดพิธีวิสาขบูชาขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ แล้ว ยังทรงโปรดให้สมเด็จพระสังฆราช ขยายหลักสูตรบาลีจากบาเรียนตรี โท เอก ซึ่งสืบเนื่องมาจากกรุงศรีอยุธยาเป็น เปรียญ ๙ ประโยค ยังคงสืบเนื่องมาจนบัดนี้ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตอนปลาย พระองค์ทรงปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ทรงจัดตั้ง กระทรวง ทบวง กรม ในส่วนกลาง ตลอดถึงมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านในส่วนภูมิภาคแล้ว พระองค์ทรงปรึกษากับคณะสงฆ์ขอให้แบ่งพระราชภารกิจในการจัดการศึกษาโดยตลอด โดยทรงมอบหมายให้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงดำเนินการ

ก่อน พ.ศ. ๒๔๖๙ การสอบพระปริยัติธรรมแผนกภาษาบาลี ผู้ที่เข้าสอบต้องเข้าสอบต่อหน้า คณะกรรมการภายในพระบรมมหาราชวัง ต่อหน้าพระที่นั่ง ด้วยการจับสลากและเข้าไปแปลด้วยปากเปล่าทีละรูป ซึ่งเรียกกันติดปากจนทุกวันนี้ว่า "สมัยแปลด้วยปาก" จะสอบได้หรือไม่ได้ คณะกรรมการตัดสินให้คะแนนรู้ผลกันในวันนั้น ผู้ที่สอบได้จะได้รับพระราชทานรางวัลไตรจีวรแพร ซึ่งเป็นของมีค่ามากในสมัยนั้น นับเป็นเกียรติประวัติแก่ผู้ที่สอบได้เป็นอย่างยิ่ง

ในสมัยแปลด้วยปาก มีพระเปรียญที่สอบได้ ป.ธ. ๙ หลายรูป เท่าที่สามารถรวบรวมได้มี ดังนี้

สมัยรัชกาลที่ ๑

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่ ป.ธ.๙) เป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ บวชอยู่วัดราชบูรณะ ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เป็นพระธรรมกถึก เทศนาโวหารดี "ลีลาอย่างสาริกาป้อนเหยื่อ" มีคนนิยมมาก ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระอมรโมลี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๗๕ ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ พระเทพโมลี ตรีปิฎกธรา มหาธรรมกถึกคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี นับเป็นครั้งแรกที่โปรดให้เติมคำว่า "มหาธรรมกถึก" เข้าในสร้อยนามพระเทพโมลี ทั้งนี้เพราะท่านเป็นพระธรรมกถึกผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง และในปี พ.ศ. ๒๓๗๕ นั่นเอง โปรดให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ตามลำดับดังนี้

พ.ศ. ๒๓๘๖ เป็น พระธรรมไตรโลกาจารย์

พ.ศ. ๒๓๙๔ เป็น พระพิมลธรรม

พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) มรณภาพในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ อายุได้ ๘๑ ปี เป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสนานที่สุดถึง ๔๑ ปี (จากประวัติวัดประยุรวงศาวาส)

สมัยรัชกาลที่ ๒

๑. พระอุดมปิฎก นามเดิม สอน นามฉายา พุทฺธสโร  เป็นชาวจังหวัดพัทลุง  ได้เข้ามาพักอาศัยอยู่ ณ วัดหนัง เขตบางขุนเทียน (ปัจจุบันเขตจอมทอง)  ได้มาศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม อยู่ที่วัดหงสาราม (ปัจจุบันเป็นวัดหงส์รัตนาราม) เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร  ภายหลังได้ย้ายมาอยู่วัดหงสารามและเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดหงสาราม รูปที่ ๕ เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงรู้จักและคุ้นเคยเป็นอันดี ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ครั้นขึ้นเสวยราชย์แล้ว ก็ทรงตั้งให้พระมหาสอนเป็นพระราชาคณะ มีราชทินนามว่า พระอุดมปิฎก และเป็นเจ้าอาวาสวัดหงสารามจนตลอดรัชกาล  เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๓ แล้ว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งยังผนวชอยู่ ก็ทรงลาสิกขาขึ้นเสวยราชสมบัติ  พระอุดมปิฎกก็ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสกลับภูมิลำเนาเดิม

ท่านเจ้าคุณพระอุดมปิฎก มีประวัติที่ควรจารึกไว้ให้ปรากฏ คือ เมื่อรัชกาลที่ ๔ ขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว ท่านกลัวว่าราชภัยจะมาถึงตน เพราะเคยมีปฏิกิริยาคัดค้านการทรงตั้งคณะธรรมยุตติกนิกายอย่างแรงกล้า จึงรีบลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหงสารามกลับไปอยู่ในภูมิลำเนาเดิม ครั้นถึงงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงรับสั่งให้สืบหาพระอุดมปิฎก  ครั้นทรงทราบว่าจำพรรษาอยู่ ณ วัดสุนทราวาส (สนทรา) จังหวัดพัทลุง  จึงรับสั่งให้อาราธนามาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา โดยให้เป็นภาระหน้าที่ของคณะข้าราชการกรมการจังหวัดเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเดินทาง (โดยทางเรือ) ทุกประการ  ท่านจึงเดินทางมาตามหมายกำหนดการ  ครั้นถึงวันพระราชพิธี พระอุดมปิฎกเข้านั่งประจำที่เป็นองค์สุดท้ายปลายแถว ถึงเวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนจตุปัจจัยไทยทานโดยลำดับ นับตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมาจนถึงพระอุดมปิฎก ทรงโสมนัสยิ่งนัก ทรงทักทายด้วยความคุ้นเคย ตอนท้ายทรงรับสั่งว่า ท่านเดินทางมาแต่ไกล นานปีจึงจะได้พบกัน ขอจงให้พรโยมให้ชื่นใจทีเถิด เมื่อได้รับอนุญาตจากสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ท่านเจ้าคุณก็ตั้งพัดยศขึ้นถวายพระพรด้วยปฏิภาณโวหาร ว่ากลอนสดเป็นภาษาบาลีว่า

อติเรกวสฺสสตํ  ชีว

อติเรกวสฺสสตํ  ชีว

อติเรกวสฺสสตํ  ชีว

ทีฆายุโก  โหตุ  อโรโค  โหตุ

ทีฆายุโก  โหตุ  อโรโค  โหตุ

สุขิโต  โหตุ  ปรมินฺทมหาราชา

สิทฺธิกิจฺจํ  สิทฺธิกมฺมํ  สิทฺธิลาโภ  ชโย  นิจฺจํ

ปรมินฺทมหาราชวรสฺส  ภวตุ  สพฺพทา  ขอถวายพระพร

เนื่องจากท่านไม่ได้เตรียมไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าจะต้องถวายพระพร จึงว่าติดเป็นระยะๆ วรรคแรกว่าซ้ำถึง ๓ หน จึงว่าวรรคที่สองต่อไปได้ ว่าวรรคที่สองซ้ำถึงสองหน จึงว่าวรรคที่สามต่อไปได้ และว่าได้ตลอดจนจบโดยมิได้ซ้ำอีกเลย  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับแล้วทรงโปรดพระพรบทนี้มาก จึงทรงรับสั่งให้ถือเป็นธรรมเนียมให้พระสงฆ์ใช้พรบทนี้ถวายพระพรพระมหากษัตริย์ ในพระราชพิธีทั้งปวงตราบเท่าจนทุกวันนี้ โดยมิได้ตัดตอนแก้ไขแต่ประการใด แม้คำที่ท่านว่าซ้ำสองหนสามหน ก็ให้รักษาไว้เหมือนเดิม เรียกว่า ถวายอดิเรก แต่ได้ทรงเพิ่มเติมคำว่า ตุ ต่อท้ายคำว่า ชีว เป็น ชีวตุ สืบมาจนบัดนี้

โดยที่พระอุดมปิฎกผู้เป็นต้นเหตุถวายพระพรบทนี้เป็นพระราชาคณะ  ดังนั้นจึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบมาว่า พระผู้ที่จะถวายอดิเรกได้นั้นต้องมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ธรรมเนียมนี้ได้รักษามาเป็นเวลาช้านาน

แต่ปัจจุบันนี้ (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐) ทางการคณะสงฆ์ได้อนุญาตให้พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ซึ่งถือพัดยศเปลวเพลิงเป็นผู้ถวายอดิเรกได้โดยอนุโลม นับได้ว่าพระอุดมปิฎกเป็นต้นบัญญัติแห่งการถวายอดิเรกด้วยประการฉะนี้

มีเรื่องเล่าเพิ่มเติมว่า เนื่องจากท่านมหาสอนเป็นคนรูปร่างเล็กผิวดำและเตี้ย แม้ท่านจะสนใจในการศึกษา แต่ก็หาโอกาสสอบไม่ได้ ด้วยในขณะนั้นผู้ที่จะเข้าสอบเปรียญ นอกจากจะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถแล้ว คณะกรรมการจะต้องพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีรูปร่างสวยงามและมีนิสัยใจคอดีด้วย ถึงคราวคณะกรรมการประชุมสอบ พระภิกษุสอนชอบไปช่วยเหลือด้วยการต้มน้ำร้อนชงน้ำชาถวายคณะกรรมการเป็นประจำ

วันหนึ่งขณะที่พระกรรมการกำลังประชุมสอบพระภิกษุรูปหนึ่งอยู่นั้น พระกรรมการรูปหนึ่ง ได้ออกจากที่ประชุมไปทำธุรกิจส่วนตัวในห้องน้ำ ได้ยินเสียงพระภิกษุสอนพูดกับพระภิกษุเพื่อนอื่นๆ ในวงน้ำชาว่า ประโยคนี้แปลไม่ได้อีกก็แย่แล้ว พระกรรมการรูปนั้นได้ยินก็สนใจถึงถามว่า คุณแปลได้หรือ พระภิกษุสอนตอบว่าถึงจะแปลได้ก็ไม่มีคนรับรองให้แปล พระกรรมการรูปนั้นจึงรับว่าจะเป็นผู้รับรองส่งสอบ จึงเป็นอันว่าพระภิกษุสอนได้มีโอกาสเข้าสอบในเวลาต่อมา และสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ดังกล่าวแล้ว เรื่องรูปร่างสวยไม่สวยจึงค่อยคลายโดยลำดับมา

สมัยรัชกาลที่ ๓

๑. สมเด็จพระสังฆราช (สา) ปุสฺสเทวมหาเถร วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานครเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นามเดิม สา ประสูติ ณ วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๕๖ ในราชกาลทึ่ ๒ ภูมิลำเนาเดิมอยู่จังหวัดราชบุรี มีประวัติการสอบพระปริยัติธรรม ดังนี้

ในราชกาลที่ ๓ พ.ศ.๒๓๗๐ อายุ ๑๔ ปี สอบได้ ๒ ประโยค ได้เป็นเหรียญวังหน้า ด้วยการสอบปริยัติธรรมสมัยนั้น ต้องสอบให้ได้ ๓ ประโยคในคราวเดี่ยวกันจึงจะถือว่าสอบได้เปรียญ ถ้าสอบไม่ได้ครบ ๓ ประโยค ถือว่าตก สอบคราวหน้าต้องสอบตั้งแต่ประโยค ๑ ขึ้นไปใหม่

ครั้งนั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงมีพระประสงค์จะทรงอุปการะพระภิกษุสามเณรที่เป็นนักเรียน ให้มีอุสาหะในการเรียนไม่ให้ท้อถอย จึงทรงอุปการะนักเรียนที่สอบได้ตั้งแต่ ๒ ประโยค จนกว่าจะสอบเปรียญ ๓ ประโยค นักเรียน ๒ ประโยค เหล่านั้น จึงเรียกกันว่า “เปรียญวังหน้า” คำนี้ไม่ได้เป็นสมณศักดิ์

ต่อมาถึง พ.ศ.๒๓๗๔ อายุ ๑๘ ปี เข้าสอบอีกครั้งหนึ่ง สอบคราวเดียวได้ ๙ ประโยค ได้เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค แต่ครั้งยังเป็นสามเณร นับเป็นสามเณรเปรียญ ๙ ประโยครูปแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ท่านมีประวัติที่พิสดารต่อไปอีกว่า เมื่ออุปสมบทได้ ๖ พรรษา ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระอมรโมลี แต่ภายหลังได้ลาสิกขาออกไปประกอบอาชีพเยี่ยงคฤหัสถ์

พ.ศ.๒๓๙๕ อายุได้ ๓๙ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดให้ท่านกลับเข้ามาอุปสมบทใหม่ ตามประวัติกล่าวว่า ท่านสอบเปรียญ ๙ ประโยคได้อีกครั้งหนึ่ง จึงมีนามว่า พระมหาสา ปุสฺสเทโว เปรียญธรรม ๑๘ ประโยค สมัยแปลปาก เพราะในสมัยนั้นภิกษุสามเณรเปรียญหรือนักธรรมรูปใดลาสิกขาไป เมื่อกลับเข้ามาบวชใหม่ต้องสอบใหม่ตั้งแต่ต้น ระเบียบนี้ยกเลิกเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๘๐ นี้เอง

สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๒ พระชนมายุได้ ๘๗ พรรษา เป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่  ๖ ปี ได้รับพระราชทานเพลิง ณ พระเมรุสนามหลวงในรัชกาลที่ ๕

๒. สมเด็จพระพุทธฆาจารย์ (ฉิม) วัดโมลีโลกยาราม ภายหลังย้ายไปอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระมหาเถระรูปนี้แตกฉานในภาษาบาลีมาก เป็นกรรมการอำนวยการสอบบาลีในพระบรมมหาราชวัง ร่วมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ สมัยพระองค์ยังทรงผนวชอยู่ ท่านได้แต่คาถาภาษาบาลีถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว มีคำขึ้นต้นว่า ยํ ยํ เทวมนุสฺสานํ ซึ่งคณะสงฆ์ยังคงใช้สวดในพระราชพิธีจนกระทั่งปัจจุบันนี้

๓. สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร พระมหาเถระรูปนี้เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๙ อุปสมบท พ.ศ.๒๓๖๙ ได้เปรียญ ๙ ประโยค เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๙ ย้ายจากวัดราชาธิวาส ไปครองวัดโสมนัสวิหาร เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๙ (ลงท้ายด้วยเลข ๙ มาตลอด) ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ดังนี้ พ.ศ.๒๓๙๙ เป็น พระอริยมุนี พ.ศ.๒๔๐๐ เป็น พระพรหมมุนี พ.ศ.๒๔๑๕ เป็น พระพิมลธรรม พ.ศ.๒๔๒๒ เป็น สมเด็จพระวันรัตและมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ อายุ ๘๖ ปี

สมัยรัชกาลที่ ๔

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ) วัดปทุมคงคา สอบได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แล้วไม่ยอมเข้าสอบอีก เป็น พระครูอโนมสาวัน ตำแหน่งพระครูคู่สวดฐานานุกรมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งทรงผนวช จนตลอดรัชกาลที่ ๓

ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงพระดำริว่า ความรู้ท่านถึงภูมิเปรียญธรรม ๙ ประโยค แต่หากไม่แปลเอง จึงพระราชทานเพิ่มเติมให้อีก ๑ ประโยค รวมเป็น ๙ ประโยค และทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะฤกษ์ ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปีกุน พุทธศักราช ๒๓๙๔ ที่ พระวรญาณมุนี และในปีเดียวกันก็ทรงเปลี่ยนราชทินนามให้ใหม่ว่า พระอโนมมุนี รุ่งขึ้นปีชวด พุทธศักราช ๒๓๙๕ โปรดให้ท่านเป็นหัวหน้าสมทูตเดินทางไปลังกาทวีป และโปรดให้ย้ายจากวัดบวรนิเวศ ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา พ.ศ.๒๔๑๕ เป็น พระพรหมมุนี พ.ศ.๒๔๓๐ เป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์

เล่ากันว่าในสมัยสอบแปลปากเปล่า ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสอบรูปหนึ่ง และมักพบคู่กับ พระสาสนโสภณ (สา) ท่านเคร่งครัดในการแปลมาก เป็นที่เกรงขามของภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบ ถึงกับเรียกขานท่านกรรมการทั้งสองว่า ยักษ์สา ยักษ์ศรี เฉพาะพระสาสนโสภณ (สา) ไม่เข้มงวดกวดขันมากนัก แต่พระอโนมมุนี (ศรี) เข้มงวดกวดขันไม่ผ่อนผันให้ง่ายๆ เลย เล่ากันว่าภายหลังจากสอบไล่เสร็จประจำวันแล้วท่านมักเดินเปลี่ยนเส้นทางกลับวัดเสมอ เพราะท่านได้รับบัตรสนเท่ห์อยู่เนืองๆ ว่าระวังตัวให้ดีจะถูกลอบทำร้ายเวลากลับวัด ทั้งนี้เกิดจากภิกษุสามเณรที่ไม่พอใจในความเข้มงวดกวดขันของท่าน และเนื่องจากท่านมีเชื้อสายเป็นคนจีน เมื่อจวนจะมรณภาพท่านได้สั่งไว้ว่า ให้ฝังศพท่านตามประเพณีจีน ศพของท่านจึงฝังอยู่ที่ฮวงซุ้ยที่วัดปทุมคงคาจนปัจจุบันนี้

สมัยรัชกาลที่ ๕

พ.ศ.๒๔๔๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๕ วัดสระเกศ พระมหาเถระรูปนี้ เป็นพระมหาเปรียญที่สอบได้ ๙ ประโยค เป็นรูปแรกในรัชกาลนี้ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้รถหลวงนำไปส่งถึงพระอาราม จึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบเนื่องมาจนบัดนี้ว่าภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญ ๙ ประโยค ทางสำนักพระราชวังจะต้องจัดรถหลวงนำส่งถึงวัดทุกรูป (เฉพาะวัดในกรุงเทพมหานคร)

ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ดังนี้ พ.ศ.๒๔๕๑ เป็น พระปิฎกโกศล พ.ศ.๒๔๖๔ เป็น พระราชเวที พ.ศ.๒๔๖๖ เป็น พระราชเทพเวที พ.ศ.๒๔๗๑ เป็น พระธรรมเจดีย์ พ.ศ.๒๔๘๘ เป็น พระธรรมวโรดม พ.ศ.๒๔๙๖ เป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พ.ศ.๒๕๐๖ เป็น สมเด็จพระอริยวงศษคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สิ้นพระชนม์เมื่อ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๘ สิริพระชนมายุ ๙๐ พรรษา ๕ เดือน ๑๔ วัน

พ.ศ.๒๔๔๕ พระมหาเหรียญ วัดสุทัศนเทพวราราม ท่านเป็นเปรียญ ๙ ประโยค เป็นรูปแรกของสำนักเรียนวัดสุทัศนเทพวราราม ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีวิสุทธิวงศ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ และมรณณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ รวม อายุ ๓๙ ปี พรรษา ๑๘ ท่านได้ ป.ธ.๙ ปีเดียวกับสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ แต่คงจะไม่ใช่รูปแรกในรัชกาล และมีอายุน้อย จึงไม่มีผลงานปรากฏแพร่หลาย

พ.ศ.๒๔๔๖ พระมหาไคล อุตฺตโม วัดสุทัศนเทพวราราม ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระอมรเมธาจารย์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ และถึงมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ รวมอายุ ๕๓ ปี พรรษา ๓๓

พ.ศ.๒๔๔๖ พระมหาอยู่  เขมจาโร (อุดมศิลป์) วัดเทพศิรินทราวาส ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส ตั้งแต่อายุ ๑๒ ขวบ (พ.ศ. ๒๔๓๕) ครั้น พ.ศ.๒๔๔๒ อายุ ๑๘ สอบได้เปรียญ ๗ ประโยค และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้อุปสมบทที่วัดเทพศิรินทราวาส โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ในปีนั้นเข้าแปลได้เปรียญ ๘ ประโยค รุ่งขึ้นอีกปี พ.ศ.๒๔๔๖ ก็แปลได้ ๙ ประโยค ณ สนามหลวง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้น พ.ศ.๒๔๕๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระอมราภิรักขิต พ.ศ.๒๔๕๙ ลาสิกขา เข้ารับราชการในกรมศึกษาธิการ เป็นพนักงานราชบัณฑิต ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระธรรมนิเทศทวยหาญ ภายหลังได้โอนไปเป็นหัวหน้าอนุศาสนาจารย์ในกองทัพบก เป็นอนุศาสนาจารย์คนแรกของกองทัพไทย อยู่จนครบเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕

เมื่อครั้งสอบประโยค ๙ ได้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีลายพระหัตถ์กับกับพระรูปมอบให้เป็นที่ระลึกความว่า

“ให้พระมหาเขมจาโร (อยู่) ในการแปลฎีกาสังคหะประโยค ๙ ได้หน้าพระที่นั่ง เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม  ร.ศ.๑๒๒ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส  ผู้อุปัชฌาย์”

พ.ศ.๒๔๔๗ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุยุราชรังสฤษฎิ์ พระมหาเถระรูปนี้ผลงานมากมาย เป็นประธานสังฆสถารูปแรก ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ได้รับพระราชทานสมณศัดดิ์ดังนี้  พ.ศ.๒๔๕๒  เป็น พระศรีวิสุทธิวงศ์  พ.ศ.๒๔๕๕  เป็น พระราชสุธี  พ.ศ.๒๔๕๙  เป็น พระเทพโมลี  พ.ศ.๒๔๖๔  เป็น พระธรรมไตรโลกาจารย์  พ.ศ.๒๔๗๑  เป็น พระพิลธรรม  พ.ศ.๒๔๘๒  เป็น สมเด็จพระวันรัต  ท่านมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ อายุ ๖๓ ปี

พ.ศ.๒๔๔๘ สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสสทตโต) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  พระเถระรูปนี้มีผลงานมากมายเช่นกัน เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองรูปแรก ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔  ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ดังนี้  พ.ศ.๒๔๕๑  เป็น พระศากยบุตติยวงศ์  พ.ศ ๒๔๖๔  เป็น พระราชสุธี  พ.ศ.๒๔๖๖  เป็น พระเทพมุนี  พ.ศ.๒๔๖๙  เป็น พระธรรมปิฎก  พ.ศ.๒๔๘๒  เป็น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์  พ.ศ.๒๔๘๘  เป็น สมเด็จพระวันรัต  ท่านมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ อายุ ๗๒ ปี

อนึ่ง ทำเนียบสมณศักดิ์พระเถระวัดเบญจมมบพิตร พิมพ์เป็นมุทิสักการะ เมื่อพระพุทธิวงศมุนี(สุวรรณ สุวณฺณโชโต ป.ธ.๗) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ แม่กองบาลีสนามหลวง กรรมการมหาเถรสมาคม ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๒  ได้กล่าวถึงพระเปรียญธรรม ๙ ประโยคแห่งสำนักวัดเบญจมบพิตร ๒ รุป คือ

พระมหาหรุ่ม พฺรหฺมโชติโก ป.ธ.๙  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ ที่ พระอมรโมลี  ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๕๕  ได้เลื่อนเป็นชั้นราชที่ พระราชเวที และได้ลาสิกขาเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๕

พระมหาพัน อรุโณ ป.ธ.๙  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒  ที่ พระกวีวงศ์ ภายหลังลาสิกขาเมื่อใดไม่ปรากฏ ยังสืบประวัติรายละเอียดไม่ได้

ทั้ง ๒ รูปนี้ สอบได้ ป.ธ.๙ เมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ตามประวัติดังกล่าวข้างต้น พอยืนยันได้ว่ารูปแรกสอบได้ก่อน พ.ศ.๒๔๔๙  และรูปที่ ๒ สอบได้ก่อน พ.ศ.๒๔๕๒ แน่นอน

พ.ศ.๒๔๕๑ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๔ วัดเบญจมบพิตรดุสิวนาราม เฉพาะพระมหาเถระรูปนี้สอบได้ ป.ธ.๙ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรดปรานมาก เล่ากันว่าถึงกับปรบพระหัตถ์และตรงเข้าทรงอุ้ม และทรงให้จัดรถเข้าขบวนแห่นำส่งถึงพระอาราม ต่อมาทรงอุปถัมภ์จัดการให้อุปสมบทป็นนาคหลวง ซึ่งยังคงถือเป็นธรรมเนียมสืบมาจนบัดนี้ว่า สามเณรรูปใดสอบได้ ป.ธ.๙ ทรงรับสามเณรรูปนั้นไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ให้เข้าอุปสมบทเป็นนาคหลลวงเป็นกรณีพิเศษ  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ดังนี้  พ.ศ.๒๔๕๗  เป็น พระศรีวิสุทธิวงศ์  พ.ศ.๒๔๖๖  เป็น พระราชเวที  พ.ศ.๒๔๖๙  เป็น พระเทพมุนี  พ.ศ. ๒๕๔๗  เป็น พระธรรมโกศาจารย์  พ.ศ.๒๔๘๒  เป็น พระพรหมมุนี  พ.ศ.๒๔๙๐  เป็น สมเด็จพระวันรัต พ.ศ.๒๕๐๓  เป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช สิ้นพระชนเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๕ พระชนมายุ ๗๔ พรรษา ๕๓

พ.ศ.๒๔๕๓ พระมหาทวี สุวฑฺฒโน อายุ ๒๖ พรรษา ๖ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สอบได้ เปรียญธรรม ๙ ประโยค เป็นรูปแรกของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ครั้นอุปสมบทได้ ๘ พรรษา ถึง วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๕  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระอมรโมลี  พรรษาที่ ๑๒ ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตลาสิกขา ออกไปรับราชการที่กระทรวงยุติธรรม กระทรวงธรรมการ และกระทรวงการคลัง ตามลำดับ เป็นกรรมการชำระปทานุกรม (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) ได้รับ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงเทพดรุณานุศิษฎ์ (ทวี ธรฺมธัช) มียศเป็นรองอำมาตย์เอก นับแต่นั้นมายังไม่มีพระภิกษุสามเณรวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคอีกเลย นับเป็นเวลาถึง ๘๘ ปี มาในปีการศึกษา ๒๕๔๑ มีพระภิกษุ ๑ รูป และสามเณร ๑ รูป ของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สอบได้เปรียญ ๙ ประโยค คือ

พระมหาเทียนชัย ทมเมธี (สาลีสิงห์) อายุ ๒๘ พรรษา ๗

สามเณรจิรกิตติ์ ชัยศรี อายุ ๒๑ ปี

ยังมีพระเถระอีกหลายรูป ซึ่งสอบได้ ป.ธ.๙ สมัยแปลปากเปล่า คือ

๑ พระอมรโมลี (นพ ป.ธ.๙) วัดบุปผาราม ธนบุรี

๒ พระอมราภิรักขิต (เกิด ป.ธ.๙) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส รูปที่ ๒

๓ พระวรญาณมุนี (น้อย ป.ธ.๙) วัดจักรวรรดิราชาวาส

๔ พระญาณไตรโลก (ขำ ป.ธ.๙) วัดประยุรวงศาวาส

๕ หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ (รอง ป.ธ.๙) วัดบพิตรพิมุข

๖ พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก สาลักษณ์ ป.ธ.๙) วัดบวรนิเวศวิหาร

๗ พระญาณรักขิต (ศุข ป.ธ.๙) วัดบรมนิวาส

๘ พระมหาเจริญ บุรณสิริ ป.ธ.๙ วัดบวรนิเวศวิหาร

๙ พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต ป.ธ.๙) วัดบรมนิวาส

๑๐ พระศิริธรรมมุนี (แก้ว ป.ธ.๙) พระเชตุพนวิมลมังคลาราม

๑๑ พระมหาเพิ่ม ป.ธ.๙ วัดมกุฏกษัตริยาราม

ในระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๔ ถึง พ.ศ.๒๔๖๘ มีผู้สอบได้ ป.ธ.๙ หลายรูป แต่ยังไม่พบหลักฐานเลยว่าผู้ใดสอบได้เมื่อ พ.ศ.ใดบ้าง นับแต่ พ.ศ.๒๔๖๙ เป็นต้นมา ทางการคณะสงฆ์ได้กำหนดวิธีการสอบขึ้นใหม่ โดยใช้วิธีสอบแบบ ข้อเขียนแทนการแปลด้วยปากเปล่า และเพิ่มเป็น ๓ วิชาคือ

๑.วิชาเขียนไทยเป็นมคธ ออกข้อสอบเป็นภาษาไทยล้วน สุดแล้วแต่กรรมการจะกำหนดให้ นักเรียนเขียนตอบเป็นภาษามคธ

๒.วิชาแปลไทยเป็นมคธ ข้อสอบแปลมาจากภาษามคธเป็นภาษาไทย ให้ตอบเป็นภาษามคธ ๓.วิชาแปลมคธเป็นไทย ออกข้อสอบเป็นภาษามคธ ให้ตอบเป็นภาษาไทย ทั้งสามวิชานี้ยังคงใช้อยู่ตลอดมาจนทุกวันนี้

นับแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๕๑) เป็นต้นมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๒ นับเป็นเวลาถึง ๕๑ ปี ในระหว่างนี้ไม่ปรากฏว่าสามเณรรูปใดสอบได้ ป.ธ.๙ เลย มาปรากฏเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ เป็นต้นมา คือในสมัยรัชกาลปัจจุบัน มีผู้สอบได้ ป.ธ.๙ แต่ครั้งยังเป็นสามเณรหลายรูป ดังมีชื่อปรากฏในทำเนียบนี้แล้ว

ในสมัยการสอบด้วยข้อเขียนระยะต้นๆ ผู้ที่สอบได้ตั้งแต่เปรียญธรรม ๓ ประโยคถึง ๙ ประโยค ยังคงเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตร พัดยศเปรียญ และไตรจีวร ในพระบรมมหาราชวัง โดยกำหนดวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ หรือก่อนวันวิสาขบูชา ๑ วัน เป็นประจำทุกปี เรียกว่า “วันทรงตั้งพระเปรียญ” ซึ่งยังคงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ พระภิกษุที่สอบได้ประโยค ป.ธ.๓ แล้ว ถ้ายังไม่ผ่านพ้นวันทรงตั้งพระเปรียญ จะใช้คำนำหน้าชื่อตัวเองว่า “พระมหา” ยังไม่ได้ ต่อเมื่อผ่านพ้นวันนั้นไปแล้ว แม้จะไม่ได้เข้ารับการทรงตั้งโดยตรงก็ย่อมมีสิทธิ์จะใช้คำว่า “พระมหา”นำหน้าชื่อได้ ในขณะที่ยังไม่ถึงวันทรงตั้งนั้น ให้คงใช้เช่นเดียวกับสามเณร คือ ใช้คำว่า “เปรียญ” ตามหลังชื่อของตนไปก่อน เช่น พระภิกษุ ก.เปรียญ ดังนี้

ครั้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณ พ.ศ.๒๔๘๘ เป็นต้นมา มีพระภิกษุสามเณรเข้ารับ การศึกษาและสอบได้มากขึ้น ทรงมีพระราชภาระมากขึ้น จึงทรงมอบหมายพระราชภาระการทรงตั้งพระเปรียญถวายสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ให้ทรงดำเนินการแทนพระองค์ ยกเว้นเฉพาะผู้ที่สอบได้ ป.ธ.๖ และ ป.ธ.๙ ยังโปรดให้เข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรและปริญญาบัตร พัดยศเปรียญ และไตรจีวร ในพระบรมมหาราชวังเหมือนดังเดิมทุกประการ และยังคงอุปถัมถ์ให้รถหลวงนำส่งเฉพาะผู้ที่สอบได้ ป.ธ.๙ มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

อนึ่ง ผู้เขียนเคยถูกถามปัญหามาก่อนว่า ในกรณีที่จะต้องระบุวิทยฐานะของพระมหาเปรียญ ทำไมบางรูปจึงต้องระบุวิทยฐานะทางนักธรรมด้วย เช่น พระมหาปริยัติ สมบัติบริบูรณ์ ป.ธ.๓ น.ธ.โท หรือ พระมหาปริยัติ สมบัติบริบูรณ์ ป.ธ.๕ น.ธ.เอก แต่บางรูปไม่ต้องระบุวิทยฐานะนักธรรมเลย เช่น พระมหาปริยัติ สมบัติบริบูรณ์ ป.ธ.๙ ไม่ระบุว่าเป็นนักธรรมโทหรือนักธรรมเอก อยากทราบว่ามีกำหนดกฎเกณฑ์เป็นมาอย่างไร ปัญหานี้เข้าใจว่าคงยังมีผู้สงสัยไม่น้อย โดยเฉพระผู้ที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับวงการศึกษาของคณะสงฆ์ จึงเห็นสมควรเฉลยปัญหานี้ไว้เพื่อทราบทั่วกันดังนี้

การศึกษาภาษาบาลีเป็นของโบราณสืบเนื่องมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ครั้นมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้จัดลำดับชั้นเป็นประโยค เรียกว่า ประโยค ๑ - ๒ ประโยค ๓ จนถึงประโยค ๙ เป็นที่สุด เฉพาะผู้ที่สอบได้ประโยค ๑ และ ๒ ยังไม่มีสิทธิได้รับพระราชทานพัดยศเปรียญ และยังไม่เรียกว่า พระมหา ผู้ที่สอบได้ตั้งแต่ประโยค ๓ ขึ้นไปจึงจะมีสิทธิได้รับพระราชทานพัดยศเปรียญ และเมื่อได้รับพระราชทานพัดยศเปรียญแล้ว จึงมีสิทธิที่จะใช้คำนำหน้าว่า พระมหา โดยถือว่าได้รับการทรงตั้งแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงรับพระภิกษุสามเณรที่สอบได้ประโยค ๑ - ๒ ไว้ในพระอุปการะ เรียกกันในสมัยนั้นว่า พระเปรียญวังหน้า ทราบว่าพระองค์ทรงพระราชทานพัดยศเปรียญให้เป็นกรณีพิเศษด้วย ครั้นต่อมาภายหลังเป็นเพราะเหตุใดไม่สามารถทราบได้ ทางการคณะสงฆ์จึงได้ยกเลิกการสอบประโยค ๑ - ๒ ไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง

แต่ภายหลังต่อมา เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐ ทางการคณะสงฆ์ โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธรมหาเถระ ป.ธ.๙) วัดสามพระยา ครั้งดำรงสมณสักดิ์ที่ พระธรรมปัญญาบดี แม่กองบาลีสนามหลวง จึงได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาดำเนินการ โดยจัดให้มีการสอบประโยค ๑ - ๒ อีกครั้งหนึ่ง และยังคงปฏิบัติอยู่จนตราบทุกวันนี้
ในสมัยเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงจัดองค์นักธรรมขึ้นครบทั้ง ๓ ชั้นแล้ว คือ พ.ศ.๒๔๕๔ เปิดสอบนักธรรมชั้นตรีขึ้นปีแรก ปรากฏว่าพระปลัดแบน คณฺฐาภรโณ อายุ ๒๗ พรรษา ๗ วัดบวรนิเวศวิหารสมัครเป็นรูปแรกและสอบได้เป็นรูปแรก ภิกษุนี้ภายหลังเป็น พระรัตนธัชมุนี พระราชาคณะชั้นธรรม ตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค ๑๖ - ๑๗ - ๑๘ วัดพระมหาธาตุ นครศรีธรรมราช พ.ศ.๒๔๖๐ เปิดสอบนักธรรมชั้นโท พ.ศ.๒๔๖๕ เปิดสอบนักธรรมชั้นเอก จึงจำเป็นต้องจัดให้สอดคล้องกับการศึกษาภาษาบาลีเดิม เพื่อให้การศึการศึกษาทั้ง ๒ แผนกได้ควบคู่กันไป โดยได้ทรงกำหนดกฎเกณฑ์การศึกษาของคณะสงฆ์ขึ้นไว้ดังนี้

ผู้มีสิทธิสอบบาลีประโยค ป.ธ.๓    จะต้องสอบ น.ธ. ตรี ให้ได้ก่อน

ผู้มีสิทธิสอบบาลีประโยค ป.ธ.๔      จะต้องสอบ น.ธ. โท ให้ได้ก่อน

ผู้มีสิทธิสอบบาลีประโยค ป.ธ.๗      จะต้องสอบ น.ธ. เอก ให้ได้ก่อน

ผู้ที่สอบ น.ธ. เอก ได้แล้วมีสิทธิสอบประโยคบาลีได้ทุกประโยค

เพราะฉะนั้น สำหรับพระมหาเปรียญที่มีวุฒิต่ำกว่าประโยค ป.ธ.๗ จึงจำเป็นจะต้องมีวุฒิทางนักธรรมมากำกับด้วย ส่วนผู้ที่สอบบาลีได้ตั้งแต่ประโยค ป.ธ.๗ ไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิทางนักธรรมกำกับอีก เพราะถือว่าได้ผ่านหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดมาแล้ว จึงขอเฉลยไว้ให้รู้โดยทั่วกัน

อนึ่ง เพราะเหตุที่มีกำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้เอง จึงนิยมเรียกผู้ที่สอบบาลี ป.ธ.๓ ได้ว่า เปรียญตรี เรียกผู้ที่สอบได้ ป.ธ.๔ - ๕ - ๖ ว่า เปรียญโท เรียกผู้ที่สอบได้ ป.ธ.๗ - ๘ - ๙ ว่า เปรียญเอก

อีกประการหนึ่ง ก่อน พ.ศ.๒๕๒๗ ผู้ที่สอบได้ ป.ธ.๙ ได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรรับรองวุฒิการศึกษา จาก พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา ได้มีพระราชบัญญัติกำหนดให้พระภิกษุสามเณรที่สอบได้ ป.ธ.๙ ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร และยังกำหนดว่าแม้ผู้ที่ได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรมาก่อน ก็ให้ถือว่าได้รับพระราชทานปริญญาบัตรเช่นเดียวกัน โดยใช้คำย่อว่า ป.ธ.๙