๑.ภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งของกองทัพเรือ คือการรักษาเส้นทางคมนาคมของประเทศทางทะเลซึ่งใช้ในการลำเลียงขนส่งสินค้าในยามสงบกับยุทโธปกรณ์ในยามสงคราม ทั้งเข้าและออกจากประเทศ ซึ่งหากไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้ ก็จะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนขีดความสามารถของกองทัพไทยในยามสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพายุทโธปกรณ์ และยุทธปัจจัยจากภายนอกประเทศ นอกจากการที่ประเทศต่าง ๆ ตื่นตัวในการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติในทะเล ทำให้เกิดการอ้างกรรมสิทธิ์เขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีปรวมไปถึงเกาะต่าง ๆ ซ้อนทับกัน สถานการณ์เหล่านี้ล้วนแต่อาจจะทำให้เกิดการใช้กำลังทางเรือต่อสู้กันได้ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ทางเรือในการป้องกันประเทศด้วยการวางกำลังป้องกันเป็นชั้น ๆ โดยชั้นนอกสุดจะเป็นการใช้เรือดำน้ำ เนื่องจากเรือดำน้ำจะถูกข้าศึกตรวจพบและทำลายได้ยากตลอดจนสามารถปฏิบัติการในพื้นที่ที่มีกำลังทางอากาศของข้าศึกปฏิบัติการอยู่อย่างหนาแน่นได้และเพื่อให้สนองตอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว กองทัพเรือจึงมีความจำเป็นต้องจัดหาเรือดำน้ำมาใช้ราชการ







๒.การเตรียมกำลังทางเรือของ กองทัพเรือเพื่อป้องกันประเทศนั้น มีความจำเป็นต้องพัฒนากำลังรบให้มีความสอดคล้องและสมดุลย์กัน ทั้งบนผิวน้ำในอากาศ และใต้ทะเล กล่าวคือกำลังรบทางเรือจะต้องมีทั้งส่วนที่เป็นเรือรบผิวน้ำ เครื่องบินที่ใช้ปฎิบัติการในทะเล และเรือดำน้ำ โดยจะต้องมีจำนวนและประเภทที่สมดุลย์สอดคล้องกันจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นไม่ได้ และในปัจจุบันนี้ กองทัพเรือได้จัดหาเรือผิวน้ำและเครื่องบินนาวีเพียงพอในการปฏิบัติภารกิจจนถึงระดับหนึ่งแล้ว จึงมีความต้องการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการเพื่อให้เป็นกำลังรบที่สมบูรณ์มีประสิทธิภาพพร้อมที่จะใช้ในการป้องกันประเทศ ซึ่งจากการติดตามความเคลื่อนไหวด้านการทหารของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคจะเห็นได้ว่า หลายประเทศได้ให้ความสนใจในการเตรียมการ และจัดหาเรือดำน้ำมาใช้งานในกองทัพเรือของตน อาทิ เวียดนามได้ส่งกำลังพลไปฝึกอบรมการปฏิบัติงานในเรือดำน้ำที่สหพันธรัฐรัสเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ได้จัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการแล้วจำนวนหนึ่ง และเช่นกัน อินโดนีเซียก็มีเรือดำน้ำเข้าประจำการแล้ว และกำลังพิจารณาจะจัดหาเพิ่มเติมอีก ๒ ลำ ออสเตรเลียกำลังต่อเรือดำน้ำชั้น COLLINS ๖ ลำเข้าประจำการ อิหร่าน และปากีสถานได้ตกลงใจจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการเพิ่มเติมในกองทัพแล้ว สรุปแล้วประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ กำลังมี และมีเรือดำน้ำมาใช้ราชการในกองทัพเรือทั้งสิ้น


เรือดำน้ำชั้น COLLINSของกองทัพเรือ ออสเตรเลีย

๓.นอกจากนี้เรือดำน้ำจะเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ในทางรับได้เป็นอย่างดี การที่กองทัพเรือมีเรือดำน้ำจะทำให้ประเทศที่เป็นศัตรูไม่กล้าที่จะส่งกำลังทางเรือเข้ามาปฏิบัติการรุกรานอาณาเขตทางทะเลของประเทศ และแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของไทย ดังตัวอย่างกรณีสงครามฟอล์คแลนด์ ที่ราชนาวีอังกฤษ ได้ส่งเรือดำน้ำไปปฏิบัติการป้องกันเกาะฟอล์คแลนด์เพียงจำนวน ๒ ลำ และได้ยิงเรือลาดตระเวนของอาร์เจนตินาลำหนึ่งจมลง มีผลให้กองเรืออาร์เจนตินาไม่ส่งเรือผิวน้ำมาปฏิบัติการบริเวณเกาะฟอล์คแลนด์อีกเลยตราบจนสิ้นสุดสงคราม




มีข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ การที่ประเทศไทยต้องอาศัยการคมนาคมทางทะเลเป็นหลักสินค้าเข้า สินค้าออกรวมทั้งยุทธปัจจัยที่ทุกกองทัพต้องใช้ ต้องอาศัยการลำเลียงทางทะเลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อประเทศไทยต้องขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างหนัก อันเนื่องมาจากเส้นทางคมนาคมทางทะเลถูกตัดขาดนั้น ยังคงเป็นบทเรียนที่คนไทยไม่อาจลืมได้ และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้เอง ที่ ร.ล.สมุย ของกองทัพเรือได้ถูกจมลงด้วยตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำของฝ่ายพันธมิตรในอ่าวไทยในระหว่างการลำเลียงน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าประเทศจากสิงคโปร์

นอกจากความสำคัญของทะเลในฐานะเส้นทางคมนาคมดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันทะเลยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีมูลค่ามหาศาล อันเป็นเหตุให้ทุกประเทศที่มีอาณาเขตติดทะเลต่างก็พากันอ้างสิทธิครอบครองจนเป็นเหตุให้มีความขัดแย้งโดยทั่วไป ทั้งหมดนี้อาจเป็นสาเหตุของความขัดแย้งในอนาคตได้ทั้งสิ้นประเทศไทยจึงไม่อาจอยู่ในฐานะที่ตั้งอยู่ในความประมาทได้ เช่นเดียวกับทุกประเทศในภูมิภาคแถบนี้ที่ต่างก็ดำเนินการเสริมสร้างกำลังส่วนที่ยังขาดของตน การเตรียมกำลังของกองทัพเรือจึงเปรียบเสมือนการซ่อมทำรั้วบ้านทางทะเลให้แข็งแรงขึ้นในเมื่อมีขีดความสามารถทางเศรษฐกิจพอที่จะดำเนินการได้เท่านั้น มิได้มีความมุ่งหมายเพื่อการรุกราน ซึ่งมิใช่วิสัยของคนไทยและประเทศไทยอยู่แล้ว

กองทัพเรือเป็นกำลังอำนาจส่วนหนึ่งของชาติเป็นเครื่องมือของประเทศในการดำเนินนโยบายเพื่อความมั่นคง เป็นอำนาจต่อรองที่สำคัญในการดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การที่กองทัพเรือจะปฎิบัตหน้าที่ได้สมบูรณ์แค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับการมีกำลังที่สมดุล เรือดำน้ำยังคงเป็นห่วงโซ่ที่สำคัญของแนวป้องกันทางทะลที่ยังขาดอยู่ เมื่อใดที่กองทัพเรือสามารถจัดหากำลังในส่วนนี้ได้แล้ว จึงจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนชาวไทยโดยทั่วไปได้ยิ่งขึ้น