"ถ้ากรุงสยามมีเรือดำน้ำ จะเปนเครื่องป้องกันสำคัญมากหรือจะนับว่าเปนเครื่องป้องกันอย่างดีที่สุดก็ว่าได้"
กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ 2 มีนาคม 2462

แนวความคิด ๒๔๕๓

ประโยชน์ของเรือ ส.

สงครามโลกครั้งที่ ๑

ปฐมนักเรือดำน้ำ

ความจริงเรื่องเรือดำน้ำ

สงครามโลกครั้งที่ ๒ ปลดเรือดำน้ำ

ไทยถูกรุกรานด้วยเรือดำน้ำ

ว่างเว้นจากเรือดำน้ำ ๕๐ ปี

-

 

            แนวความคิดที่จะจัดหาเรือดำน้ำมาเป็นกำลังรบของกองทัพเรือนั้นได้มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2453 ดังจะเห็นได้จากโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือซึ่งคณะกรรมการอันประกอบด้วย นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (ต่อมาเป็น นายพลเรือเอก กรมหลวง ฯ) นายพลเรือตรี พระยาราชวังสัน (ฉ่าง แสง ชูโต ต่อมาเป็น นายพลเรือ พระยามหาโยธา) และนายพลเรือตรี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร (ต่อมาเป็นนายพลเรือเอกกรมหลวง ฯ) ได้จัดทำขึ้นถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต (ต่อมาเป็นจอมพลเรือสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระฯ) เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และเสนาบดี ฯ ทรงนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 18 มกราคม ร.ศ.129 (พ.ศ.2453) โครงการนี้ได้กำหนดให้มีเรือ ส. จำนวน ๖ ลำทั้งนี้คณะกรรมการ ฯ ได้อธิบายไว้ว่า เรือ ส. คือ เรือดำน้ำสำหรับลอบทำลายเรือใหญ่ข้าศึกแต่ ยังกล่าวให้ชัดไม่ได้เพราะยังไม่เคยลงแลลอง แต่ที่พูดถึงด้วยนี้ โดยเห็นว่าต่อไปภายน่าการศึกสงครามจะต้องเปนมั่นคง แต่ไม่ใช่เดี๋ยวนี้เวลานั้นเรือดำน้ำเป็นอาวุธที่นาวีของมหาอำนาจในยุโรปกำลังพัฒนาและทดลองใช้อยู่

          ต่อมาใน พ.ศ.2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ออกจากประจำการ และต้องจ้างนายนาวาเอก ชไนด์เลอร์ (J.Schneidler) นายทหารเรือชาติสวีเดนเข้ามาเป็นที่ปรึกษาการทหารเรือ ในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.2455 นายนาวาเอกชไนด์เลอร์ ได้เสนอโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือสำหรับป้องกันประเทศ และได้กล่าวถึงเรือดำน้ำว่าเป็นเรือที่ดีมากสำหรับป้องกันกรุงเทพ ฯ แต่จะผ่านเข้าออกสันดอนลำบาก ถ้าเก็บไว้ในแม่น้ำก็ไม่คุ้มค่าและได้เสนอไว้ในโครงการให้มีเรือดำน้ำ 8 ลำ สำหรับประจำอยู่ที่กองเรือที่จันทบุรี

          เมื่อถึง พ.ศ.2458 สมเด็จพระบรมราชชนก ฯ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ เป็นนายเรือโท สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ได้เสด็จกลับจากศึกษาวิชาการทหารเรือในจักรพรรดินาวีเยอรมันและทรงเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือพระองค์ได้ทรงจัดทำโครงการเกี่ยวกับกำลังเรือดำน้ำ ซึ่งทรงให้ชื่อว่าความเห็นเกี่ยวกับเรือ ส.(เหตุที่ทรงใช้คำแทนเรือดำน้ำว่าเรือ ส.ก็เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการเดิมที่ทูลเกล้าถวายไว้เมื่อ พ.ศ.2453) เสนอต่อเสนาธิการทหารเรือในเวลานั้นคือ นายพลเรือโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2458 โครงการนี้มีรายละเอียดที่สมบูรณ์ที่สุดเกี่ยวกับ ขนาดและคุณสมบัติของเรือดำน้ำที่กองทัพเรือควรจะมีเรือพี่เลี้ยง อุ่ และโรงงานที่ต้องการ กำลังพลประจำการเรือ การฝึกและการสวัสดิการของคนประจำเรือ การปกครองบังคับบัญชา ตลอดจนงบประมาณต้องใช้ในการนี้ทั้งหมด พระองค์ได้ทรงแบ่งโครงการนี้ออกเป็น 2 ตอน แต่ละตอนแบ่งออกเป็น 2 ขั้น ดังนี้

          ตอนที่ 1 ขั้นที่ 1 สำหรับป้องกันบริเวณปากแม่น้ำทั้ง 4 คือ เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง และป้องกันเกาะสีชัง ใช้เรือดำน้ำ 2 ลำ ขนาดระวางขับน้ำเหนือน้ำ 190 ตัน ใต้น้ำ 230 ตัน ความเร็วเหนือน้ำ 15 นอต ใต้น้ำ 9.5 นอต รัศมีทำการเหนือน้ำ 450 ไมล์ มีตอร์ปิโดขนาด 4.5 ซ.ม. 2 ท่อ (หัว ท้าย) คนประจำเรือ 20 คน

          ตอนที่ 1 ขั้นที่ 2 ขยายเขตป้องกันออกไปถึงแนวเกาะจวง เกาะสัตกูดสามร้อยยอด เพิ่มเรือดำน้ำขนาดเดียวกับขั้นที่ 1 อีก 2 ลำ รวมเป็น 4 ลำ

          ตอนที่ 2 ขั้นแรก ขยายการปฏิบัติออกไปถึงเกาะสมุย เพิ่มเรือดำน้ำอีก 3 ลำ และให้มีขนาดโตขึ้นบ้าง

          ตอนที่ 3 ขั้นใหญ่ ขยายเขตปฏิบัติการไปถึงสิงคโปร์ เพิ่มเรือดำน้ำขนาดใหญ่อีก 2 ลำ ระวางขับน้ำเหนือน้ำ 800 ตัน ใต้น้ำ 1,000 ตัน ความเร็วเหนือน้ำ 18.5 นอต ใต้น้ำ 10 นอต รัศมีทำการเหนือน้ำ 2,500 ไมล์ ตอร์ปิโด 4 ท่อ (หัว 2 ท้าย 2 ) ปืนใหญ่ 76 มม. 2 กระบอก

           ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมราชชนก ฯ ได้ทรงอธิบายประโยชน์ของ เรือ ส. หรือ เรือดำน้ำ ไว้ว่า "ข้าศึกจะคอยคิดถึงเรือ ส.ของเราในเวลาที่เขาจะจัดกองทัพเข้ามาตีกรุงสยามเพื่อจะหนีอันตรายจากเรือ ส. ข้าศึกคงจะไม่ส่งเรือใหญ่เข้ามาเพื่อให้มาเป็นเป้าแก่เรือ ส.ได้ข้าศึกคงจะส่งเรือขนาดเล็กแล่นเร็ว เพราะฉะนั้นต้องส่งหลายลำทำให้การจับจ่ายใช้สอยแพงเงินขึ้น การขนทหารด้วยเรือเล็กจะต้องมากกว่าเรือใหญ่ การส่งเสบียงอาหารจะเป็นการลำบากมากเพราะจะต้องมีเรือรบคุมเสมอถ้าเรือที่ส่งเข้ามาเป็นเรือเล็กแล้ว จะมีช่องให้เรือพิฆาตและเรือปืนของเราต่อสู้ได้โดยไม่เสียเปรียบมากนักถ้าเรามีเรือ ส. แล้ว ข้าศึกจะต้องระวังอยู่เสมอ ไม่ให้เรือ ส. เข้าโจมตีโดยไม่รู้ตัวได้ การระวังอันนี้ทำให้คนประจำเรือได้รับความลำบากมาก

           นอกจากความเห็นเกี่ยวกับ เรือ ส. ดังกล่าวแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนก ฯ ยังได้ทรงร่างโครงการสร้างกองเรือรบ (flottenbauplan) ของไทยเป็นภาษาเยอรมันไว้ในสมุดแบบฝึกหัด ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงพบและประทานสำเนาให้แก่กองทัพเรือเมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการนี้มีเรือดำน้ำ 4 ลำ ขนาดระวางขับน้ำเหนือน้ำ 230 ตัน ความเร็วเหนือน้ำ 14 นอต ใต้น้ำ 10 นอต มีตอร์ปิโด ขนาด 53 ซม. 2 ท่อ และจะใช้เกาะสีชังเป็นฐานปฏิบัติการ

           ขณะนั้นเป็นเวลาระหว่างเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 1 การจัดหาเรือรบและอาวุธ ยุทโธปกรณ์ จากยุโรปทำได้ยาก แม้ ร.ล.รัตนโกสินทร์ ซึ่งได้สั่งสร้างและลงมือสร้างไปบ้างแล้ว ที่บริษัทอาร์มสตรองในอังกฤษก็ต้องชะงักลงเพราะบริษัทต้องสร้างเรือรบให้แก่กองทัพเรืออังกฤษก่อน โครงการและแนวความคิดของ สมเด็จพระบรมราชชนก ฯ จึงไม่ได้รับการดำเนินการแต่งอย่างใดพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องนี้และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กระทรวงการต่างประเทศติดต่อกับอังกฤษจนสามารถส่ง นายนาวาตรี หลวงหาญสมุท (บุญมี พันธุมนาวิน ต่อมาเป็น นายพลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร) ไปศึกษาการใช้เรือดำน้ำในกองทัพเรืออังกฤษจนสำเร็จ ท่านผู้นี้จึงเป็นปฐมนักเรือดำน้ำ" ของประเทศไทย

           เมื่อเสด็จไป กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงกลับเข้ารับราชการอีกและทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ได้ทรงกล่าวถึงเรือดำน้ำไว้ในลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลของพระราชทานพระบรมราชานุญาตไปดูการทหารในยุโรปใน พ.ศ.2462 ดังนี้ในส่วนป้องกันอ่าวหรือท้องทะเลเครื่องที่จะทำให้กองทัพเรือใหญ่หวาดเสียวอย่างดีที่สุดก็คือ เรือดำน้ำฯลฯ ถ้ากรุงสยามมีเรือดำน้ำจะเป็นเครื่องป้องกันอย่างดีที่สุดก็ว่าได้แสดงว่า แนวความคิดในการที่จะมีเรือดำน้ำในกองทัพเรือไทยยังดำรงอยู่ตลอดเวลา

           ต่อมาในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2469 นายพลเรือตรี พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) เสนาธิการทหารเรือ ได้จัดทำ บันทึกการจัดกองทัพเรือสยาม (ซึ่งก็คือโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ) ถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้รักษาการแทนเสนาบดีกระทรวงทหารเรือโดยได้กำหนดว่า จะแบ่งกำลังทางเรือออกเป็น 2 กอง คือกองเรือรักษาฝั่งและกองเรือรุกรบในกองเรือรุกรบนั้น จะมีเรือดำน้ำรักษาฝั่งขนาด 300 400 ตัน 4 ลำ

           ตามที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าความคิดที่จะมีเรือดำน้ำเป็นกำลังรบของไทยนั้นได้มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2453 แต่ติดขัดด้วยงบประมาณเป็นปัจจัยสำคัญ จีงไม่สามารถจัดหาเรือดำน้ำตามที่คิดไว้

           ความคิดที่จะมีเรือดำน้ำในกองทัพเรือได้กลายเป็นความจริงขึ้นหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว คือในปลาย พ.ศ.2477 สภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติ พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทหารเรือ พ.ศ.2478 ให้กองทัพเรือจัดการบำรุงกำลังทางเรือให้เสร็จภายในเวลา 6 ปี ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 18 ล้านบาท ใช้งบประมาณประจำปีละ 1 ล้านบาท นอกนั้นจ่ายจากเงินคงคลัง ตามโครงการบำรุงกำลังทางเรือที่เสนอต่อสภา ฯ ได้กำหนดความต้องการเรือดำน้ำไว้ 6 ลำ ประมาณราคาไว้ลำละ 2.3 ล้านบาท และต้องการในขั้นแรก 3 ลำ นายนาวาเอกหลวงสินธุ สงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน ต่อมาเป็นพลเรือเอก) เสนาธิการทหารเรือในสมัยนั้นได้เป็นหัวแรงในการจัดหากำลังทางเรือ กองทัพเรือได้เรียกประกวดราคาสร้างเรือดำน้ำในเดือนตุลาคม พ.ศ.2478 มีตัวแทนบริษัทของชาติต่าง ๆ เสนอราคารวม 6 ประเทศ ราคาที่เสนอมีทั้งสร้าง 3 ลำ และสร้าง 4 ลำ บริษัทมิตซุบิชิ ของญี่ปุ่น เสนอราคาต่ำที่สุดคือ เรือดำน้ำขนาด 370 ตัน มีปืนใหญ่และลูกปืน มีท่อตอร์ปิโด ไม่มีลูกตอร์ปิโด สร้าง 3 ลำ ราคาลำละ 820,000 บาท กองทัพเรือจึงตกลงสร้างที่ญี่ปุ่น และได้ส่งนายทหารสัญญาบัตร และประทวนไปศึกษาการใช้เรือดำน้ำในญี่ปุ่น โดยจักรพรรดินาวีญี่ปุ่นจัดครูและเรือฝึกให้ ทั้งนี้ต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นก่อนชั่วระยะเวลาหนึ่ง

           เรือดำน้ำที่สั่งสร้างมีระวางขับน้ำเหนือน้ำ 370 ตัน ใต้น้ำ 430 ตัน ความเร็วสูงสุดเหนือน้ำ 15 นอต ใต้น้ำ 8 นอต ดำได้ลึก 60 เมตร ติดปืนใหญ่ขนาด 76/25 มม. 1 กระบอก มีตอร์ปิโดที่หัวเรือ 4 ท่อ ขนาด 45 ซม. ตอร์ปิโด 8 ลูก ใช้คนประจำเรือ 33 นาย ตอร์ปิโดที่ใช้เป็นตอร์ปิโดแบบเดียวกับที่ซื้อมาใช้ในเรือตอร์ปิโดและเรือสลุป เรือดำน้ำ 4 ลำ นี้ต่อมาได้รับพระราชทานชื่อว่า มัจฉาณุ , วิรุณ , สินสมุทร และพลายชุมพล

          เรือคู่แรกคือ มัจฉาณุ และวิรุณ ได้สร้างเสร็จและส่งมอบให้กองทัพเรือในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2480 นายทหารและทหารที่ศึกษาอยู่ในญี่ปุ่นได้ลงประจำเรือสองลำนี้ จึงได้ถือเอาวันที่ 4 กันยายน เป็นวันเรือดำน้ำต่อมาจนทุกวันนี้

          พลเรือตรี กนก นพคุณ (เมื่อครั้งมียศเป็นนาวาตรี) ได้เป็นผู้บังคับหมู่เรือนำเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ เดินทางจากญี่ปุ่นมาถึงกรุงเทพ ฯ ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2481 และได้ทำพิธีขึ้นระวางประจำการพร้อมกับ ร.ล.ศรีอยุธยา ในวันที่ 19 กรกฎาคม ศกเดียวกัน

          นายทหารและทหารประจำเรือดำน้ำชุดแรกได้เป็นครูฝึก นายทหารและทหารประจำเรือ ต่อมาอีกหลายรุ่น กองทัพเรือได้ใช้เรือดำน้ำชุดนี้ปฏิบัติงานในกรณีพิพาทกับอินโดจีนของฝรั่งเศส และในสงครามมหาเอเซียบูรพาตามขอบเขตที่ตกลงไว้กับฝ่ายญี่ปุ่น

          ในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 กองทัพเรือได้ส่งนายทหารสัญญาบัตรและประทวน (บางท่านเคยประจำเรือดำน้ำมาก่อน) และช่างของกรมอู่ทหารเรือ ไปศึกษาและฝึกงานการสร้างแบตเตอรี่ขึ้นใช้ราชการเอง โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่ใช้กับเรือดำน้ำ เมื่อคณะทหารและช่างชุดนี้กลับมาถึงกรุงเทพ ฯ แล้ว ก็ได้จัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่และสีขึ้นทดลองและพัฒนางานนี้จนเป็นโรงงานที่ใกล้จะสมบูรณ์ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ส่งนายทหารไปศึกษาต่อในต่างประเทศและได้พัฒนางานต่อไป เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 แล้ว หน่วยงานนี้ก็ต้องย้ายไปสังกัดกระทรวงกลาโหม และแปรสภาพเป็นองค์การแบตเตอรี่มาจนถึงปัจจุบัน

          เมื่อสงครามโลก ครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามและไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ขายอีก กองทัพเรือจึงเริ่มขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่ของเรือดำน้ำ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ประจำเรือซึ่งได้ใช้งานมาถึง 9 ปีแล้ว โรงงานแบตเตอรี่และสีที่ตั้งขึ้นก็ยังไม่สามารถผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้ได้ ชาติพันธมิตรของเราก็ไม่มีนโยบายที่จะช่วยเหลือประเทศไทยในเรื่องเรือดำน้ำ กองทัพเรือจึงจำเป็นต้องปลดเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำออกจากประจำการ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 การมีเรือดำน้ำในกองทัพเรือไทยจึงสิ้นสุดลงตั้งแต่วันนั้น

          ใน พ.ศ.2492 กองทัพเรือได้เสนอ โครงการ 5 ปี ต่อรัฐบาล โครงการนี้มี การจัดหาเรือดำน้ำอีก 8 ลำ ในระหว่าง พ.ศ.2493 - 94 แต่โครงการนี้ไม่ได้รับอนุมัติและต้องเลิกล้มไป

          ต่อจากนั้นมา ด้วยความจำกัดของงบประมาณกองทัพเรือจึงไม่มีโอกาสจัดหาเรือดำน้ำมาใช้งานอีก ประกอบกับในสมัยหนึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเซียอาคเนย์ และได้มีการกำหนดขอบเขต การปฏิบัติงานของกองทัพเรือไทยไว้ทำให้แนวความคิดในการจัดหาเรือดำน้ำต้องชะงักไป

          เท่าที่กล่าวมาแล้ว เป็นเรื่องของแนวความคิดเกี่ยวกับการมีเรือดำน้ำในกองทัพเรือไทย และการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุแนวความคิดนั้น ต่อไปจะได้กล่าวถึงภัยคุกคามจากเรือดำน้ำข้าศึกได้ที่รับในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ ๒ โดยสังเขป

          วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2485 เป็นวันที่ประเทศไทยถูกรุกรานโดยเรือ ดำน้ำเป็นครั้งแรก เรือดำน้ำอเมริกัน ชื่อ เทรชเชอร์ (Theresher) ได้นำทุ่นระเบิดแม่เหล็ก Mk. 12 จำนวน 32 ลูก มาวางในบริเวณเกาะล้านเป็นสนามทุ่นระเบิดที่วางด้วยเรือดำน้ำสนามแรกในสงครามมหาเอเซียบูรพา เรือลำเลียงญี่ปุ่นชื่อ ซิดนีย์มารู (Sydney Maru) ซึ่งบรรทุกข้าวสารที่เกาะสีชังแล้วเดินทางไปสิงคโปร์ ได้ถูกทุ่นระเบิดสนามนี้ในวันที่ 16 ตุลาคม (วันรุ่งขึ้น) ที่บริเวณท้ายเรือและกลางลำต้องจูงไปเกยตื้นที่เกาะไผ่ กองทัพเรือได้จัด ร.ล.จวง ลำแรกไปกวาดทุ่นระเบิดสนามนี้แต่ไม่ได้ผล ในวันเดียวกับที่เรือดำน้ำเทรชเชอร์วางทุ่นระเบิดที่เกาะล้านนั้น เรือดำน้ำอเมริกัน การ์ (Gar) ก็วางทุ่นระเบิดแบบเดียวกันอีก 32 ลูก ทางใต้เกาะคราม ร.ล.รัตนโกสินทร์ ได้ถูกทุ่นระเบิดสนามในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2487 เรือชำรุดแต่แล่นเข้าอ่าวสัตหีบได้

          ในระหว่าง พ.ศ. 2487 - 88 เรือดำน้ำพันธมิตร คือ อังกฤษและอเมริกาได้เข้ามาคุกคามการเดินเรือในน่านไทย หลายครั้ง อังกฤษปฏิบัติการทางด้านทะเลอันดามันและในอ่าวไทย อเมริกาปฏิบัติการในอ่าวไทย

เรือดำน้ำแบบ S

          ทางด้านฝั่งทะเลอันดามัน อังกฤษ ใช้เรือดำน้ำแบบ S (ระวางขับน้ำเหนือน้ำ 830 ตัน ความเร็ว 14 นอต มีปืนใหญ่ 3 นิ้ว 1 กระบอก ตอร์ปิโดขนาด 53 ซม. 7 ท่อ) และเรือดำน้ำแบบ T (ระวางขับน้ำเหนือน้ำ 1,300 ตัน ความเร็ว 15.5 นอต มีปืนใหญ่ 4 นิ้ว 1 กระบอก ตอร์ปิโดขนาด 53 ซม. 11 ท่อ) ปฏิบัติการจากฐานทัพที่ทริงโคมาลีในลังกา รายการสำคัญ ๆ ที่ควรกล่าวถึงคือ ได้วางทุ่นระเบิดทั้งชนิดทอดประจำที่และชนิดแม่เหล็กที่บริเวณเกาะตะรุเตา บริเวณนอกฝั่งสตูล บริเวณใกล้เกาะลันตาและนอกแหลมปากพระ ภูเก็ต ได้ยิงและชนเรือสินค้าและเรือใบทั้งของญี่ปุ่นและไทยจมหลายลำ เช่น เรือบันไตมารู โฮเรมารู ซิกิมารู ของญี่ปุ่น เรือกลไฟถ่องโหของไทย เป็นต้น ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2487 ได้ยิงเรือยนต์จูงเรือฉลอมขนย้ายครอบครัวของพันตำรวจตรี ขีด ศิริศักดิ์ ผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดพังงา จมที่บริเวณแหลมนาค ห่างฝั่งประมาณ 2 กม. พันตำรวจตรี ขีด ฯ ได้รับบาดเจ็บ ตำรวจตาย 1 คน หายไป 3 คน ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2487 เรือดำน้ำ Trenchant ของอังกฤษได้บรรทุกตอร์ปิโดคนและมนุษย์กบมาทำลายเรือสินค้าอิตาลีสองลำในอ่าวภูเก็ต เรือสองลำนี้ได้จมตัวเองเมื่อเกิดสงคราม ญี่ปุ่นกำลังกู้ขึ้นเพื่อจะนำไปใช้และต้องถูกมนุษย์กบ เข้าทำลายจนจมอีกครั้งหนึ่ง

          ทางด้านอ่าวไทย อังกฤษใช้เรือดำน้ำแบบ T ซึ่งมีฐานทัพที่ฟรีแมนเติล ในออสเตรเลีย อเมริกาใช้เรือดำน้ำแบบ Balao หรือ Fleet Type (ระวางขับน้ำเหนือน้ำ 1,525 ตัน ความเร็วสูงสุดเหนือน้ำ 20 นอต มีปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว 1 กระบอก ตอร์ปิโด ขนาด 53 ซม. 10 ท่อ) บริเวณที่เข้ามาปฎิบัติการคือ ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยหน้าอ่าวระยองทางฝั่งตะวันตกของอ่าวไทยตั้งแต่ใต้ประจวบคีรีขันธ์ลงไปจนถึงตรังกานู ได้ยิงเรือลำเลียงและเรือใบที่เดินชายฝั่งทั้งของไทยและของญี่ปุ่นจมหลายลำ ส่วนใหญ่ใช้ปืนใหญ่ประจำเรือยิงทำลาย ที่ใช้ตอร์ปิโดก็มีบ้างที่สมควรกล่าวถึง คือ

ร.ล.สมุย (ลำที่ ๑)

          วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2488 เรือดำน้ำอเมริกา Sealion II ยิง ร.ล.สมุย (ลำแรก) ด้วยตอร์ปิโดจมที่ฝั่งตรังกานู วันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2488 เรือดำน้ำ 4 ลำโผล่ขึ้นยิงเรือลำเลียงญี่ปุ่น 9 ลำนอกฝั่งอำเภอปะนาเระ ปัตตานี ทั้ง ๆ ที่มีเครื่องบินคุ้มกัน 3 เครื่อง เรือลำเลียงถูกยิงจมและไฟไหม้ 5 ลำ ตอร์ปิโดของเรือดำน้ำที่ผิดเป้าเกยฝั่งหาดทรายบ้านท่าสูง 1 ลูก วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2488 เรือดำน้ำยิงเรือไทยนาวา 3 ของบริษัทไทยเดินเรือทะเลจมที่บริเวณหน้าอ่าวชุมพร ร้อยโท กมเลศ จันทร์เรือง นายทหารติดต่อกองพลที่ 6 ที่มากับเรือเสียชีวิต วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2488 เรือดำน้ำอังกฤษชื่อ Tradewind ยิงเรือยนต์สหประมง 5 และเรือใบแข็งที่มาจากตรังกานูจมที่บริเวณเกาะทะลุ บางเบิด คนตาย 6 คน และได้จับนายเดช ประกิตตเดช ไปเป็นเชลยร่วมกับนายเพียง แซ่เจียว ซึ่งถูกสะเก็ดกระสุนบาดเจ็บสาหัส ทั้งสองคนถูกคุมขังอยู่ในออสเตรเลียจนสงครามยุติลงจึงถูกส่งกลับประเทศไทย ในวันสุดท้ายของสงครามคือ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2488 เรือดำน้ำอเมริกาได้ยิงเรือประมงชื่อปวยเองจมที่บริเวณทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะจวง เรือลำนี้เป็นเรือของเอกชนที่กองทัพเรือเกณฑ์เช่ามากวาดทุ่นระเบิดแม่เหล็กและใช้งานอื่น ๆ ด้วย

          ในเวลานั้น กองทัพเรือมีอาวุธปราบเรือดำน้ำอย่างเดียวคือ ลูกระเบิดลึกที่ซื้อมาจากญี่ปุ่นก่อนสงคราม และไม่มีเครื่องมือค้นหาเรือดำน้ำ เช่น โซนาร์หรือเครื่องฟังเสียงเลย การค้นหาเรือดำน้ำใช้การตรวจการณ์ด้วยสายตาอย่างเดียว จึงไม่ได้ผลเพราะส่วนมากเรือดำน้ำจะดำอยู่ใต้น้ำในเวลากลางวัน จะโผล่ขึ้นมายิงทำลายเรืออื่น เมื่อเห็นว่าไม่มีเครื่องบินหรือเรือรบอยู่ใกล้ ๆ

          เรือดำน้ำของต่างชาติที่เข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเรือที่มีระวางขับน้ำเหนือน้ำประมาณ 1,500 ตัน ทั้งสิ้น การที่มีบางท่านกล่าวว่า เรือดำน้ำขนาดใหญ่ไม่สามารถปฏิบัติการในอ่าวไทยได้ จึงเป็นคำกล่าวที่ห่างไกลจากข้อเท็จจริงมาก

          แนวความคิดของบรรพบุรุษทหารเรือเกี่ยวกับการมีเรือดำน้ำเป็นเขี้ยวเล็บทางทะเลดังกล่าวมาแล้วก็ดี ย่อมเป็นเหตุผลสนับสนุนแนวความคิดที่ว่าเรือดำน้ำจะเป็นอาวุธที่มีคุณค่ายิ่งของกองทัพเรือไทยในปัจจุบัน เทคโนโลยีเกี่ยวกับเรือดำน้ำได้ก้าวหน้าไปมากโดยเฉพาะประเทศในยุโรปได้พัฒนาเรือดำน้ำแบบใช้แบตเตอรี่ให้มีขนาดและความสามารถต่าง ๆ กันเรือดำน้ำ Class 209 ที่เยอรมันออกแบบสร้างขึ้น รู้สึกว่าจะได้รับความนิยมจาก นานาประเทศมาก เพราะได้รับการสั่งสร้างจากประเทศต่าง ๆ ถึง 14 ประเทศเป็นจำนวน 35 ลำ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของเราคือ อินเดียและอินโดนีเซียด้วย

          ในปัจจุบันงบประมาณและสถานการณ์มีท่าทีว่าจะอำนวยให้ กองทัพเรือก็เห็นความจำเป็นและความสมควรที่จะมีเรือดำน้ำเป็นเขี้ยวเล็บทางทะเลอีกครั้ง เพื่อให้การพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปโดยรอบคอบเพราะกองทัพเรือได้ว่างเว้นจากการมีเรือดำน้ำมาถึง 50 ปี กองทัพเรือจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นศึกษาพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบทุกด้าน เช่น ขนาดและคุณสมบัติของเรือดำน้ำที่จะมี การส่งกำลังบำรุงด้านต่าง ๆ ที่จะจำเป็น การฝึกคนประจำเรือซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากกองทัพเรือของประเทศผู้สร้างเรือดำน้ำ งบประมาณที่จะต้องใช้ ฯลฯ เมื่อการศึกษาพิจารณาเสร็จเรียบร้อยและไม่มีปัญหาทางด้านงบประมาณ กองทัพเรือก็คงจะมีโอกาสมีเรือดำน้ำได้อีกใน 3 4 ปี ข้างหน้า