นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ
กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์

นายพลเรือตรี พระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต

            โครงการจัดสร้างกำลังทางเรือนี้มีคณะกรรมการอันประกอบด้วย นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (ต่อมาเป็น นายพลเรือเอก กรมหลวง ฯ ) นายพลเรือตรี พระยาราชวังสรรค์ (ฉ่าง แสง–ชูโต ต่อมาเป็นนายพลเรือเอก พระยามหาโยธา) และนายพลเรือตรี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร (ต่อมาได้เป็นนายพลเรือเอก กรมหลวง ฯ ) ได้จัดทำขึ้นถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต (ต่อมาเป็น จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระ ฯ ) เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และเสนาบดี ฯ ทรงน้ำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) โครงการนี้ได้กำหนดให้มี “เรือ ส.(๑) จำนวน ๖ ลำ" ทั้งนี้คณะกรรมการ ฯ ได้อธิบายไว้ว่า “เรือ ส. คือเรือดำน้ำสำหรับลอบทำลายเรือใหญ่ข้าศึก ... แต่ยังกล่าวให้ชัดไม่ได้เพราะยังไม่เคยลงแลลอง แต่ที่พูดถึงด้วยนี้โดยเห็นว่าต่อไปภายหน้าการศึกษาสงครามจะต้องใช้เป็นมั่นคง แต่ไม่ใช่เดี่ยวนี้” เวลานั้นเรือดำน้ำเป็นอาวุธที่นาวีของมหาอำนาจในยุโรปกำลังพัฒนาและทดลองใช้อยู่

          ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ออกจากประจำการ และต้องจ้าง นายนาวาเอก ชไนด์เลอร์ (J.Schneidler) นายทหารเรือชาติสวีเดนเข้ามาเป็นที่ปรึกษาการทหารเรือ ในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ นายนาวาเอกชไนด์เลอร์ได้เสนอโรงการจัดสร้างกำลังทางเรือสำหรับป้องกันประเทศ และได้กล่าวถึง “เรือดำน้ำ” ว่า “เป็นเรือที่ดีมากสำหรับป้องกันกรุงเทพ ฯ แต่จะผ่านเข้าออกสันดอนลำบาก ถ้าเก็บไว้ในแม่น้ำก็ไม่คุ้มค่า” และได้เสนอไว้ในโครงการให้มีเรือดำน้ำ ๘ ลำ สำหรับประจำอยู่กับกองเรือที่จันทบุรี

          ทหารเรือไทยและคนไทยได้มีโอกาสเห็นเรือดำน้ำจริง ๆ เป็นครั้งแรกที่ไซ่ง่อน ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ในโอกาสที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสอินโดจีน ฝรั่งเศส ได้จัดเรือดำน้ำมาแล่น และดำถวายให้ทอดพระเนตรในบริเวณที่เรือพระที่นั่งมหาจักรีเทียบท่าอยู่


(๑) เรือ “ส.” ย่อมจากคำว่า “สับมารีน” (Submarine)