เมื่อนายทหารไทยไปถึงประเทศญี่ปุ่นก็เข้าศึกษาภาษาญี่ปุ่นพอใช้สนทนากันได้ก่อน ณ ที่พักตำบลฟุนาบาชิ กรุงโตเกียว ในการนี้ทางจักรพรรดิ์นาวีญี่ปุ่นได้จัดส่งบรรดาอาจารย์และครูซึ่งเป็นนายทหารสัญญาบัตรและนายทหารประทวนจากกองเรือดำน้ำของจักพรรดิ์นาวี อันมี นาวาเอก ยัตสุชิโร ซึ่งเสียชีวิตเสียแล้วเมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในการยุทธนาวีที่มหาสมุทรแปซิฟิค ดำรงค์ตำแหน่งอาจารย์ผู้ปกครองใหญ่ญี่ปุ่น ฝ่ายไทยก็มีเรือเอก สวัสดิ์ จันทนี เป็นอาจารย์ปกครองใหญ่ ซึ่งต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ (หลังจากย้ายไปอยู่ที่โกเบ) เรือเอกสวัสดิ์ จันทนี มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ที่จะประจำอยู่ในเรือดำน้ำตามความเห็นของแพทย์ฝ่ายญี่ปุ่น จึงได้เดินทางกลับประเทศไทย เรือเอกซุ้ย นพคุณ (พลเรือตรี กนก นพคุณ อดีตผู้บังคับการมณฑลทหารเรือที่ ๑) ซึ่งมีอาวุธโสรองลงมาได้เป็นผู้ปกครองใหญ่ฝ่ายทหารไทยแทน จนกระทั้งนำเรือเดินทางกลับถึงประเทศไทย การพักที่เมืองฟุนาบาชินี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓ มิถุนายน ถึง ๒๕ ตุลาคม ๑๔๗๙ รวมเวลา ๔ เดือนครึ่ง

           นายทหารและทหารญี่ปุ่น นอกจากจะมาเป็นครูสอนเทคนิคและศัพท์ทางวิชาการของทหาร เรือดำน้ำแล้ว ยังช่วยสอนภาษาญี่ปุ่นอันเป็นภาษาหลัก จนทำให้ได้รับความรู้ในวิชาการเรือดำน้ำและภาษาญี่ปุ่นรวดเร็วดีมาก

           เนื่องจากจำนวนทหารเรือไทยที่ส่งไปศึกษาวิชาการเรือดำน้ำตามจำนวนที่กล่าวมาข้างต้นไม่เพียงพอ เพราะเรือดำน้ำที่ทางรัฐบาลได้สั่งต่อขึ้นนั้นมีจำนวนถึง ๔ ลำ ดังนั้นทางกองทัพเรือจึงได้คัดเลือกจัดส่งนายทหารและทหารไปเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวน ๘๐ คน คือนายทหารสัญญาบัตร ๙ คน ชั้นประทวน ๗๑ คน ในความควบคุมของเรือโทตี๋ รัตนอุบล (ได้เสียชีวิตใน ร.ล.สมุย คราวไปราชการรับน้ำมันจากสิงคโปร์ โดยถูกเรือดำน้ำอเมริกันชื่อ ซี ไลออน ๒ ในบังคับบัญชาของนาวาเอก ซี.เอฟ. พุทนัม โดโจมตีด้วยตอร์ปิโด จมเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม (ค.ศ. ๑๙๔๕) พ.ศ. ๒๔๘๘ ตำบลแลต ๕ – ๑๘ น.,ลอง ๑๐๓ – ๒๓ อ. ได้รับพระราชทานยศเลื่อนเป็นนาวาเอก และเปลี่ยนชื่อเป็นประสิทธ์)ได้เดินทางออกจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙ (นับแบบปัจจุบัน จะเป็น พ.ศ.๒๔๘๐) ด้วยเรือโดยสารของบริษัทเดียวกับที่ไปรุ่นที่ ๑ ถึงประเทศญี่ปุ่น ณ เมืองโกเบ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๙ ทหารเรือที่ไปรุ่นหลังนี้ก็เข้าสมทบร่วมการศึกษาวิชาการเรือดำน้ำและภาษาญี่ปุ่นควบกันไป พร้อมกับทหารรุ่นแรก แต่อย่างไรก็ดี แม้จำนวนทหารที่ส่งไปถึงสองรุ่นแล้วก็ตาม ก็ยังหาเพียงพอที่จะแบ่งลงประจำเรือดำน้ำได้ครบทั้งสี่ลำไม่ ทางกองทัพเรือจึงได้คัดเลือกจัดส่งไปอีกเป็นรุ่น ๆ จนครบจำนวนที่จะจัดลงประจำเรือ ซึ่งเรือแต่ละลำมีคนประจำเรือ ๓๒ คน รวม ๔ ลำ ๑๒๘ คน

           ในระหว่างที่ ร.ล.มัจฉานุ และ ร.ล.วิรุณ กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างที่อูบริษัทมิตซุยบิชิ โกเบ เมื่อทหารเรือไทยรุ่นที่ ๑ มีความรู้ภาษาญี่ปุ่นพอใช้สนทนากันรู้เรื่อง และมีความรู้ทางวิชาการเรือดำน้ำพอเป็นมูลฐานบ้างเล็กน้อยแล้ว จึงได้ย้ายที่พักไปอยู่ที่อาคารของบริษัทมิตซุยบิชิ ซึ่งตั้งอยู่ที่หลังอู่ต่อเรือของบริษัท ฯ อาคารพักหลังนี้มีป้ายชื่อทั้งภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่น “ที่พักทหารเรือไทย” ตำบลฮายาซิดะ ถนนโคมัทสึ หมู่ที่ ๗ เลขที่ ๒/๑ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๔๗๙ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศญี่ปุ่นในเวลานั้น เพราะมันเป็นครั้งแรกที่ทหารเรือต่างชาติจำนวนมากเข้าไปพักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ส่วนทหารเรือไทยรุ่นที่ ๒ นั้นได้ไปพักที่อาคารนี้เลยที่เดียว ซึ่งมีลักษณะเป็นอาคาร ๒ ชั้น ขนาดใหญ่มาก มีสนามเทนนิสซีเมนต์อยู่ด้านหลัง คณะทหารใช้เป็นที่พัก กิน นอน และเป็นห้องเรียนไปด้วย มีการจัดเวรยามประจำวันทั้งนายทหารและทหาร การออกกำลังและกายบริหารก็เล่นกันในลานหลังอาคารฟุตบอลไปเล่นในสนามของอู่ การหัดและการฝึกซ้อมยูโด เค็นโด ก็ไปที่โครงฝึกซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนเล็กน้อย ส่วนอาจารย์และครู ซึ่งเป็นนายทหารสัญญาบัตรและนายทหารชั้นประทวนญี่ปุ่น ก็มีที่ทำการอยู่ในอาคารนี้ด้วย ครูญี่ปุ่นเหล่านี้ อยู่เวรยามร่วมกับทหารไทย เพื่อสอนหรือให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำต่าง ๆ อาจารย์และครูผู้ช่วยอื่น ทุกท่านให้ความเอาใจใส่ ให้ความรู้ ดูแลช่วยเหลือในด้านความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิด

          คณะทหารได้ศึกษาการใช้เรือดำน้ำทางตำราควบคู่ไปกับการเรียนภาษาญี่ปุ่น มีการฝึกหัดออกคำสั่งประจำสถานีและปฏิบัติการต่าง ๆ ของตัวเรือและเครื่องประกอบที่เรือดำน้ำจำลอง ซึ่งสร้างด้วยไม้ขนาดและลักษณะเหมือนของจริงที่บริเวณอู่ต่อเรือ ตลอดจนฝึกหัดประจำสถานีด้วย การเรียนและฝึกหัดกับเรือจำลองดังกล่าวได้ประโยชน์มาก เพราะทำให้ทหารคุ้นเคยกับลักษณะอันยุ่งยากของเรือและสามารถเรียนรู้วิธีปฏิบัติ ของสถานีต่าง ๆ ได้ก่อนที่จะลงประจำเรือจริงๆ