ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ

          เมื่อบริษัทมิตซุยบิชิ ได้สร้างเรือดำน้ำสองลำแรก คือ ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ เสร็จจึงกระทำพิธีปล่อยลงน้ำ เมื่อ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ รวมเวลาในการสร้าง ๗ เดือนกับ ๑๘ วัน

          ผู้ที่เป็นประธานในพิธีการปล่อยเรือลงน้ำ สองลำ คือ พระมิตรกรรมรักษา อัครราชทูตไทยในเวลานั้น พร้อมด้วยข้าราชการในสถานทูตทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร

          ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๔๘๐ ร.ล.มัจฉาณุ และร.ล.วิรุณ ได้แล้วเสร็จบริบูรณ์ ทางบริษัท ฯ พร้อมที่ที่จะทำการส่งมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ราชนาวีไทยดังนั้นทหารที่ถูกจัดให้ประจำเรือทั้งสองลำก่อน จึงได้กระทำพิธีมอบและลงประจำเรืออยู่ในเรือตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ส่วนทหารที่เหลือยังคงพักอยู่ที่ตึกตามเดิม นับว่าเป็นครั้งแรกที่ราชนาวีไทยได้มีเรือดำน้ำ ด้วยเหตุนี้บรรดาทหารเรือแห่งเรือดำน้ำจึงถือเอา วันที่ ๔ กันยายน เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพวกเขา และมีความเห็นร่วมกันในอันที่ควรจะจัดให้มีวันนี้เป็น “วันที่ระลึกเรือดำน้ำ" ขึ้น โดยให้มีการรับประทานอาหารร่วมกันเป็นพิเศษ นับตั้งแต่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นและต่อ มาจนถึงปัจจุบันนี้

ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล

          ทางบริษัทได้กระทำพิธีปล่อย ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพลลงน้ำเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ซึ่งมีพระมิตรกรรมรักษาเป็นประทานในพิธีประกอบด้วยคณะ อาทิ พ.ท.หลวงวีระโยธา ทูตทหาร กับ น.อ.พระประกอบ กลกิจ และนายทหารผู้ตรวจงานอีกหลายท่าน เมื่อประธานของบริษัทมิตซุยบิชิได้มอบหนังสือแสดงนามของเรือให้ท่านอัครราชทูต ฯ จึงประกาศนามเรือและกระทำพิธีปล่อยลงน้ำตามลำดับดังนี้

          เวลา ๘.๓๐ น. ได้ทำพิธีปล่อย ร.ล.สินสมุทร ขณะที่เรือเคลื่อนออกจากที่ แตรวงบรรเลงเพลงชาติ พวกทหารได้เปล่งเสียงไชโย และต่อจากนั้นจนถึงเวลา ๙.๐๐ น. จึงได้ประกอบพิธีปล่อย ร.ล.พลายชุมพล ลงน้ำตามฤกษ์ที่กำหนดไว้ และเมื่อแล้วเสร็จบริบูรณ์แล้วทางบริษัทจึงได้กระทำพิธีส่งมอบให้แก่ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ บรรดาทหารเรือที่เหลือจึงได้ลงอยู่ในเรือ และมีชีวิตเป็นนักดำน้ำตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

          เมื่อทหารได้ลงประจำเรือพร้อมกันแล้ว จึงได้รับการฝึกหัดศึกษาตามหลักสูตรของวิชาการเรือดำน้ำอย่างเต็มที่ เป็นต้นว่าศึกษาและฝึกหัดการใช้เครื่องจักร เครื่องไฟฟ้า ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมทั้งการฝึกประจำสถานีเรือด้วย การฝึกหัดนี้กระทำอยู่กับที่โดยเรือจอดอยู่ในอ่าวโกเบหลังเขื่อนกันคลื่น เมื่อทหารประจำเรือคล่องแล้ว จึงฝึกแล่นบนผิวน้ำ หัดการบังคับเรือและใช้เครื่องจริง ๆ ฝึกหัดดำ ฝึกหัดยุทธวิธีของเรือดำน้ำในลักษณะต่าง ๆ เป็นขั้น ๆ ไปหลายครั้งหลายหน ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของอาจารย์และครู จนแน่ใจว่าทำได้แน่ไม่ผิดพลาด ก่อนหน้านี้ นายทหารและทหารไทยก็ได้ไปทำการดำกับเรือดำน้ำญี่ปุ่นชื่อ โระ ๖๔ ที่ฐานทัพเรือไมซูรุ ทางฝั่งตะวันตกของเกาะฮอนชู เป็นการปฐมนิเทศน์ด้วย

          เมื่อการศึกษาและการฝึกหัดได้เสร็จสิ้นแล้ว จนสามารถปล่อยเดี่ยว คือสามารถบังคับและใช้เรือได้โดยเฉพาะพวกทหารเรือไทยเอง ก็ถือได้ว่าเรียนสำเร็จตามหลักสูตรวิชาการเรือดำน้ำโดยสมบูรณ์ คณะทหารจึงได้เตรียมตัวเพื่อเดินทางกลับประเทศไทย

          วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ เรือดำน้ำแห่งราชนาวีไทยถอนสมอเคลื่อนที่ออกจากน่านน้ำแห่งประเทศญี่ปุ่นสู่ประเทศไทย พร้อมกันทั้งสี่ลำ โดยไม่มีเรือพี่เลี้ยง ซึ่งยังความประหลาดใจแก่ญี่ปุ่นและชาวอเมริกัน ซึ่งได้พบปะกันที่ฟิลิปปินส์ ขณะที่ได้แวะพักที่นั้นเป็นอันมาก เพราะเรือดำน้ำขนาดเล็กเช่นนี้ต่างประเทศย่อมมีพี่เลี้ยงทั้งสิ้น นี้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสมรรถภาพและความสามารถของลูกนาวีไทย ในระหว่างทางก็ได้แวะพักที่เมืองคีลุง เกาะฟอร์โมซา และเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์รวมสองแห่งเท่านั้น เพื่อเพิ่มเติมเสบียงอาหารและเชื้อเพลิง แล้วในที่สุดก็ถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ รวมระยะทางทั้งสิ้นกว่า ๓๐๐๐ ไมล์ ซึ่งได้รับการต้อนรับจาสกประชาชนและทางราชการอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง นับว่าประเทศไทยและราชนาวีไทยได้มี “ดาบสองคม” อยู่ในมือพร้อมที่จะต้อนรับอริราชศัตรูที่จะมารุกรานไทยได้ตลอดเวลาแล้ว ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา