การเดินทางกลับประเทศสยามของเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ มีกำหนดเวลาดังนี้

          5 มิถุนายน พ.ศ.2481 ตอนเช้าครูและอาจารย์ญี่ปุ่นมาส่ง และอวยพรก่อนออกเรือจากโกเบ ให้การเดินทางของเราเป็นไปโดยสวัสดิภาพ ทหารไทยที่เหลือ คือพวกรับเรือปืนศรีอยุธยาและธนบุรี ชาวเมืองโกเบต่างพากันลงเรือตามส่งจนพ้นเขื่อนกันคลื่นประมาณ 5 ไมล์ มีการถ่ายภาพยนตร์ ถ่ายรูป มีเรือแตรวงตามบรรเลงและร้องไชโยบันไซกันเกือบ 1 ชั่วโมง จากโกเบถึงคีลุง (ทางเหนือของเกาะฟอร์โมซา) คลื่นลมพอประมาณ การกินอยู่หลับนอน การทำงานต้องอาศัยความอดทน เช่น น้ำไม่มีอาบเพราะน้ำในเรือมีจำกัด ถ้าอาบเสียแล้วจะไม่มีรับประทานกลางทาง

          9 มิถุนายน พ.ศ.2481 เวลา 1800 เรือถึงคีลุงมีชาวญี่ปุ่นมาต้อนรับและโบกธง มีการเลี้ยงต้อนรับแสดงอัธยาศัยไมตรีอย่างดี ท่าเรือเจริญกว่าสงขลา นอกนั้นคล้ายสมุทรปราการ เมื่อรับน้ำมันและเสบียงแล้วก็อำลา มีการส่งเสียงคล้ายกับเป็นเรือของชาวญี่ปุ่นที่มาเยี่ยมเมืองท่า เรือออกจากคีลุง เมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ.2481 เดินทางไปเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

          15 มิถุนายน พ.ศ.2481 เวลา 18.00 เรือทอดสมอในเขื่อนกันคลื่นหน้าเมืองมะนิลา นักเรียนไทยในมะนิลาต้อนรับ พาไปเที่ยว และเลี้ยงดูแข็งแรง น่าชมเชย และขอบคุณเป็นอย่างยิ่งบริษัทมิตซูบิชิเชิญนายทหารเลี้ยงอาหารเย็น 1วัน กับจัดเรือกลไฟรับส่งตลอดเวลาที่อยู่ นาวาตรี ซุ้ยนพคุณ ผู้บังคับการ ร.ล.มัจฉาณุ และผู้บังคับหมู่เรือดำน้ำของไทย ได้ให้สัมภาษณ์คณะผู้แทนหนังสือพิมพ์บน ร.ล.มัจฉาณุว่า

          “ด้วยความเชื่อมั่นในหลักที่ว่า แม้หวังตั้งสงบจงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ เวลานี้ถึงแม้ราชอาณาจักรสยามจะนิยมชมชื่นในระบอบสันติภาพสักเพียงใดก็ตาม แต่สยามก็ยังไม่เพิกเฉยที่จะสร้างกำลังทางนาวี ให้มีสมรรถภาพเข้มแข็งพอที่จะรักษาและประกันภัยให้แก่ผลประโยชน์ของรัฐ ในยามเมื่อบ้านเมืองเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นและได้แจ้งแก่คณะผู้แทนหนังสือพิมพ์ว่า เรือดำน้ำเป็นส่วนหนึ่งของโครงการขยายกำลังทางาวีของรัฐบาลสยาม” ต่อมาหนังสือพิมพ์มะนิลาชื่อกรานิค ได้ลงบทความเกี่ยวกับเรือดำน้ำสยามเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2481 ว่า “เรือดำน้ำ 4 ลำ ของคนไทย ซึ่งจอดทอดสมออยู่ในอ่าวมะนิลามีขนาดเล็กและมีคุณค่าไม่มากนัก และแสดงให้เห็นว่า การทูตในตะวันออกไกลจะดำเนินไปทางใด เรือดำน้ำ 4 ลำ นี้สร้างในประเทศญี่ปุ่น และทหารประจำเรือคนไทยได้รับการอบรมสั่งสอนจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อสองสามปีล่วงมาแล้ว หนังสือลอนลอน อิลลัสเตรเต็ด นิวส์ ได้พิมพ์รูปเรือเล็กที่คุณภาพสูง อันเป็นเรืออย่างเดียวกับที่ท่านมุสโสลินีคาดหมายว่าจะเอาไว้ต่อตีกองทัพเรือทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของอังกฤษซึ่งตามเรือที่กำลังทำการทดลองนี้เป็นเรือของราชนาวีสยาม และบัดนี้ก็ปรากฎอีกว่าญี่ปุ่นเป็นเกราะกันภัยของสยาม ผู้สังเกตการณ์ได้ทราบว่าที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นระบาดไปทั่วประเทศสยามจนกระทั่งคลองที่กำลังขุดหรือเจาะขุดผ่านคอคอดกระ เพื่อเชื่อมอ่าวสยามกับมหาสมุทรอินเดียก็ดูท่าทีว่าญี่ปุ่นจะเป็นผู้อยู่หลังฉาก ในปัญหาเรื่องการป้องกันชาติ ขณะเมื่อเขียนเรื่องนี้ มีเรือดำน้ำของสยาม 4 ลำ ได้มาจอดทอดสมออยู่ในอ่าวมะนิลา ก็แสดงให้เห็นว่าสยามได้ขึ้นหน้าเราในเรื่องการจัดการป้องกันศัตรู ราชนาวีสยามเป็นนาวีย่อม ๆ และยังไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้ แม้แต่กับเพียงประเทศที่มีกำลังทางเรือเป็นชั้นที่สองแต่สยามก็ยังมีราชนาวี ส่วนกำลังทางเรือของฟิลิปปินส์ยังคงเป็นแต่เพียงการร่างโครงการและฝ่ายญี่ปุ่นศัตรูก็คงมีการเพิ่มกำลังทางเรืออยู่เสมอ ๆ และทั้งยังแสดงท่าทีให้เห็นว่าเป็นอันตรายแก่การรักษาฝั่งทะเลของฟิลิปปินส์อีกด้วย “

          19 มิถุนายน พ.ศ.2481 เวลา 18.00 เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ออกเดินทางจากมะนิลา นักเรียนไทยและพนักงานบริษัทมิตซูบิชิได้ลงเรือกลไฟตามส่งจนพ้นเขื่อนกันคลื่น ขณะเดินทางมาตอนนี้ถูกคลื่นใหญ่พอประมาณ 3 วัน เมื่อจะเข้าอ่าวสยามถูกคลื่นมากกว่า แต่อาศัยที่มีกำลังใจว่าวันรุ่งขึ้นจะได้เหยียบดินแดนสยามที่รักของเราแล้ว จึงไม่รู้เหน็ดเหนื่อยอย่างไร

          25 มิถุนายน พ.ศ.2481 เวลา 18.00 เรือดำน้ำมาถึงสัตหีบ อัดไฟหม้อกำเนิดไฟฟ้า จ่ายไฟและอัดเติมใหม่

          29 มิถุนายน พ.ศ.2481 เรือเดินทางถึงกรุงเทพมหานครโดยสวัสดิภาพ...