ในปี พ.ศ.2484 มีการฝึก 2 ครั้ง ครั้งที่หนึ่งออกเรือไปฝึกวันที่ 27 มิ.ย.84 มีกำหนดการฝึก 15 วัน ทำการฝึกบริเวณสนามฝึกสัตหีบ มีเรือดำน้ำออกฝึกทั้ง 4 ลำ ร.ล.พงัน เป็นเรือพี่เลี้ยง ครั้งที่สองออกฝึก 14 พ.ย.84 ระยะเวลา 15 วัน สนามฝึกสัตหีบ เรือดำน้ำออกฝึก 2 ลำ คือ ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล มี ร.ล.พงัน เป็นเรือพี่เลี้ยง

          ในระหว่างสงครามอินโดจีน ภายหลังการยุทธที่เกาะช้าง คือหลังจาก ร.ล.ธนบุรี และเรือตอร์ปิโดถูกเรือฝรั่งเศสยิงจมแล้ว เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้ไปทำการลาดตระเวณเป็น 4 แนว อยู่บริเวณหน้าฐานทัพเรือเรียมของอินโดจีนฝรั่งเศส ใช้เวลาอยู่ใต้น้ำทั้งสิ้นลำละ 12 ชั่วโมงขึ้นไป คือระหว่าง 06.00 น. ถึง 18.00 น. กลางคืนแล่นลาดตระเวนบนผิวน้ำ นับเป็นปฏิบัติการดำที่นานที่สุดนับแต่เริ่มตั้งหมวดเรือดำน้ำมา ซึ่งยังปรากฏจากหลักฐานของฝ่ายฝรั่งเศสในการรบที่เกาะช้างว่าฝรั่งเศสมีความหวั่นเกรงเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำของไทยมาก แต่เพื่อผลของการยุทธ จึงได้ตัดสินใจเสี่ยงเข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทย โดยกำหนดแผนการปฏิบัติเป็นลับกำหนดช่วงระยะเวลาสั้นมาก เมื่อปฏิบัติการเสร็จก็รีบถอนตัวกลับทันที เพราะเกรงว่าจะถูกต่อตีด้วยเรือดำน้ำ

          ต่อมาสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปลายสงคราม สัมพันธมิตรเอาเครื่องบิน B 24, B 29 มาทิ้งระเบิดโจมตีกรุงเทพ ฯ และชานเมือง ยิ่งกว่านั้นยังโปรยทุ่นระเบิดแม่เหล็กปิดเส้นทางเรือเดินตรงปากน้ำสันดอนเอาไว้ ทำให้เรือรบทุกลำ แม้กระทั่งเรือสินค้าต้องหยุดนิ่งทันที ร.ล.พลายชุมพล และ ร.ล.สินทมุทร ออกปฏิบัติราชการและจะเดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ อยู่แล้ว จึงต้องแวะที่เกาะสีชังไปก่อน จนกว่าจะทำการกวาดทุ่นระเบิดแม่เหล็กเสร็จเรียบร้อย

          เมื่อโรงไฟฟ้าสามเสนและวัดเลียบที่จ่ายกระแสไฟประจำวัน ถูกระเบิดเรียบ กรุงเทพ ฯ ยามราตรีมีแต่ความมืดมาครอบงำราวกับเมืองร้าง เนื่องจากชาวกรุงอพยพไปหมด แต่ผู้จัดการไฟฟ้ากรุงเทพ ฯ ทราบว่า เรือดำน้ำจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ จึงขอร้องมายังกองทัพเรือ แล้วอนุมัติให้ ร.ล.มัจฉาณุ กับ ร.ล.วิรุณ ไปเทียบท่าบริษัทบางกอกด๊อก (บริษัทอู่กรุงเทพปัจจุบัน ฯ) ทำการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้รถรางสายหลักเมือง – ถนนตก วิ่งได้ยังความประหลาดใจแก่ชาวบ้านเป็นอันมาก ขณะที่เรือทั้ง 2 ลำจ่ายกระแสไฟฟ้าอยู่นั้น ทหารบนเรือต้องทำงานเสี่ยงอันตรายอย่างหนัก และคอยหลบภัยทางอากาศอยู่ตลอดเวลา

เรือดำน้ำเหล่านี้ได้รับใช้ชาติอย่างสมบูรณ์ในกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส และในสงครามมหาเอเซียบูรพา จนตลอดสงครามสงบ ภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 เรือดำน้ำเหล่านี้ เริ่มชำรุดทรุดโทรมไปตามอายุขัย ขาดแคลนชิ้นส่วนที่จะใช้ในการซ่อม การสั่งซื้อจากผู้สร้างไม่อาจทำได้เพราะญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคามและถูกยึดครอง กองทัพเรือได้พยายามหาทางที่จะซ่อมแซมเรือเหล่านี้ให้ใช้การได้อยู่หลายปี ก็ไม่บรรลุผลสำเร็จ