ประวัติศาสตร์ชาวเรือ
เรือดำน้ำสยาม

 

          สรุปประวัติศาสตร์ชาวเรือดำน้ำเรือดำน้ำไทยในอดีตตอนนี้ ได้เรียบเรียงจากคำบรรยายของนายเรือเอก ประมูล รัชตามพร นายช่างกล ร.ล.พลายชุมพล ที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุข เมื่อ 23 กรกฎาคม 2481

          เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ประกอบด้วย ร.ล.มัจฉาณุ ร.ล.วิรุณ, ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล สร้างที่อู่มิซซูบิชิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น และเมื่อ 4 กันยายน 2480 ได้ทำพิธีมอบ ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ แล้วทางราชการได้แบ่งนายทหารและจ่าครึ่งหนึ่งลงประจำเรือทั้งสอง ที่เหลือนอกนั้นคงอยู้บนบก และได้เริ่มฝึกหัดการใช้เครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ สำหรับเรือของเรา กับเอกทัตคะทางนาวีของญี่ปุ่น ผู้ที่อยู่บนบกผลัดเปลี่ยนกันลงฝึกหัดในเรือทั้งสองนั้นได้ออกไปฝึกการดำในระยะลึก 20 เมตร หลายครั้ง ตอนแรก ๆ มีครูชาวญี่ปุ่นกำกับไปด้วย ครั้งพอถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2480 ก็ฝึกดำด้วยตนเองโดยไม่มีครูญี่ปุ่นควบคุม แต่ทหารที่ประจำเรือปฏิบัติการในการดำได้เป็นที่เรียบร้อย

          ครั้นถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2481 ก็ได้ทำพิธีมอบ ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล ได้จัดคนใหม่และคนเก่าคละกันไปประจำเรือทั้ง 4 ลำ โดยมีนาวาตรี ซุ้ย นพคุณ เป็นผู้บังคับการ ร.ล.มัจฉาณุ และเป็นเรือหัวหน้าของหมู่เรือดำน้ำสยามด้วย เรือเอก พร เดชดำรง เป็นผู้บังคับการ ร.ล.วิรุณ เรือเอก สนอง ธนศักดิ์ เป็นผู้บังคับการ ร.ล.สินสมุทร และเรือเอก สาคร จันทร์ประสิทธิ์ เป็นผู้บังคับการ ร.ล.พลายชุมพล จำนวนนายทหารของหมู่เรือดำน้ำทั้งสี่ลำมี 20 นาย และลูกเรืออีก 134 นาย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2481 ก็ได้ออกเดินทางจากโกเบทั้ง 4 ลำ โดยไม่มีเรือพี่เลี้ยงกลับสู่ประเทศสยาม

          ลักษณะการดำของเรือดำน้ำไทยในอดีต การดำของเรือดำน้ำในอดีตมี 4 อย่างคือ ดำกล้อง ตาเรือโผล่พ้นน้ำ คือดำในระดับความลึก 10 เมตร แล้วโผล่กล้องตาเรือขึ้นมาบนพื้นน้ำเพื่อมองดูสิ่งต่าง ๆ บนผิวน้ำ ดำมิดกล้องตาเรือคือดำในระดับลึกตั้งแต่ ๑๐ เมตรขึ้นไปถึง ๕๕ เมตร ในขณะที่เรือแล่น...ดำแขวนคือดำในระดับความลึก๑๐ เมตรขึ้นไปถึง ๕๕ เมตร (เรือนิ่ง) ....และดำกบดาน คือดำในระดับความลึก ๑๐ เมตรขึ้นไปให้เรือนิ่งกับท้องทะเล

          การเตรียมการดำและการดำ ก่อนอื่นจะต้องเตรียมเรือเข้ารบก่อน การเตรียมเรือเข้ารบของเรือดำน้ำก็ปฏิบัติคล้ายคลึงกับการเตรียมเรือเข้ารบของเรือผิวน้ำ คือเก็บข้าวของสิ่งกีดขวางผูกมัดสิ่งของทั้งภายในและภายนอกตัวเรือ มีข้อควรระวังคือต้องให้มีปลายเชือกอยู่พันใบจักร และระวังอย่างให้มีโพรงอากาศซึ่งจะทำให้การคำนวณในขณะดำผิดไป แล้วก็ปิดฝาทางคนลงช่องต่าง ๆ เสียให้หมด หลังจากนั้นจะเป็นการประจำสถานีดำ ซึ่งจะต้องดำเนินการทดลองอัดอากาศภายใน ตรวจการปิดลิ้นตามถังดำ เมื่อสั่ง เริ่มดำ ให้เปิดลิ้นระบายอากาศและลิ้นน้ำเข้าตามถังดำ และสูบน้ำเข้าให้พอจนอัตราดันลอยสำรองเป็นศูนย์ คือมีพิกัดน้ำหนักเท่ากับน้ำทะเลในขณะนั้น จากนั้นผู้บังคับการเรือ ก็จะสั่ง ดำลึก เช่น สั่งดำลึก ๑๐ เมตร เมื่อมีการสั่งดำลึกก็จะใช้หางเสือนอนหัวและท้ายบังคับให้เรือดำลงสู่ระยะลึกตามที่ต้องการแล้วก็ตรวจตามสิ้นและก๊อกต่าง ๆ ถ้าต้องการดำลึกไปอีก ก็ใช้หางเสือนอนบังคับเรือต่อไปอีก ถ้าต้องการดำแขวน พอได้ระยะลึกตามความต้องการแล้ว ก็หยุดเครื่องลอยตัวอยู่ที่ระดับนั้น ถ้าต้องการดำกบดาน จะต้องทราบลักษณะท้องทะเลตรงนั้นเสียก่อนว่าเป็นหินหรือไม่ และควรเป็นพื้นราบดีกระแสน้ำไม่แรง เมื่อแต่งเรือให้กบดานแล้วต้องแต่งอัตราลอยสำรองให้เป็นลบ (ประมาณ ๘๐๐ กิโลกรัม) เมื่อขึ้นจากกบดานพอพ้นท้องทะเลแล้ว จึงปฏิบัติตามวิธีขึ้นจากดำ

          การเลิกจากการดำ เริ่มจากคำสั่ง “สั่งขึ้นจากดำ” เมื่อทราบคำสั่งแล้วก็จัดการเป่าน้ำตามถังดำด้วยลมซึ่งมีประจำอยู่ในเรือ ๑๐ ขวด เป่าให้น้ำออกประมาณครึ่งหนึ่งของถึง เรือก็จะลอยตัว ขณะที่เรืออยู่ในระดับน้ำที่ใช้กล้องตาเรือได้ ก็ต้องใช้กล่องตาเรือตรวจดูว่า บนผิวน้ำมีเรืออะไรอยู่หรือไม่ เมื่อตรวจดูเห็นว่าปลอดภัยดีแล้ว จึงจัดการสูบน้ำถังดำอีกครั้งหนึ่งออกด้วยเครื่องยนต์ไฟฟ้า เรือจึงลอยลำขึ้นผิวน้ำอย่างสมบูรณ์และทำการเปิดฝาช่องต่าง ๆ ได้

          ข้อปฏิบัติสำหรับนักดำในอดีต ต้องเป็นมีนิสัยปกติ ไม่เป็นคนชอบบ้วนถ่มน้ำลาย ไม่ผายลมบ่อย ๆ .. ก่อนดำให้ถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ... เป็นคนว่องไว เช่นขณะผ่านขึ้นลงทางช่องสำหรับขึ้นลง ถ้าช้าจะปิดฝาทางขึ้นลงไม่ทัน น้ำอาจเข้า และถ้าน้ำเข้าห้องหม้อแบตเตอรี่จะเป็นอันตรายเกิดก๊าซคลอรีนเป็นพิษ และหม้อแบตเตอรี่นั้นก็เสียหาย ต้องให้ปฏิบัติตามคำสั่งโดยรวดเร็วเสมอ... เป็นคนชำนาญทางในเรือศีรษะและเท้าไม่ชนโน่นกระทบนี่และเมื่อทำงานในขณะไฟดับ (ลิ้นต่าง ๆ ทำคนละชนิด) ... ห้ามทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดเปลวไฟ ประกายไฟ ภายในเรือ เพื่อปัองกันการระเบิดห้ามใช้รองเท้าส้นมีเหล็ก .. เมื่อเตรียมเรือเข้ารบห้ามอยู่บนดาดฟ้า ถ้าเผอิญลงไม่ทันให้เอามือปิดกล้องตาเรือเพื่อให้คนในเรือทราบและขึ้นมาช่วย... ขณะดำให้พูดกันค่อย ๆ พรรคกลินให้ใช้ภาษาใบ้... ขณะดำน้ำห้ามเคลื่อนที่ก่อนได้รับอนุญาตทั้งนี้เกี่ยวกับการแต่งทริมเรือ (การทรงตัว/ปรับระดับกองเรือ) ... เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือไม่มีหน้าที่ในแห่งนั้น ห้ามทำการโดยพลการ ห้ามจับต้องลิ้นก๊อกต่าง ๆ นอกจากผู้มีหน้าที่... ห้ามใช้โลหะเข้าใกล้ทางไฟฟ้าเพื่อกันการช๊อต... ห้ามทิ้งของไว้นอกที่กำหนด เช่น เสื้อผ้า, กระดาษ หรือบ้วนน้ำลาย ทั้งนี้เพื่อสุขภาพและความเรียบร้อย... ต้องนอนและรับประทานอาหารในที่ที่กำหนด

          อันตรายที่อาจเกิดขึ้นในเรือดำน้ำ อันตรายที่เกี่ยวกับเรือดำน้ำก็มีอยู่เรื่อยเท่ากับเครื่องบินยิ่งเสียกว่าก็ตรงที่ได้รับก๊าซพิษ เช่นไอระเหยของน้ำยา, น้ำมันเชื้อเพลิง, พิษสารตะกั่วของหม้อแบตเตอรี่ประเทศที่มีเรือดำน้ำมักผลัดเปลี่ยนคนประจำเรือ ประมาณทุก 2 ปี เพื่อให้มีโอกาสรักษาปอด อันตรายต่าง ๆ ในเรือดำน้ำมีโดยสรุปคือ อันตรายจากการระเบิด เพราะไฮโดรเจนระเหยจากหม้อแบตเตอรี่ ไอน้ำมันหม้อแบตเตอรี่เกิดลัดวงจรระเบิดขึ้นเอง เพราะกระเทือนโดยลูกระเบิดน้ำลึก อันตรายจากก๊าซพิษ เพราะเกิดคลอรีนจากหม้อแบตเตอรี่ปนกับน้ำเค็ม คาร์บอนไดออกไซด์รั่ว พิษตะกั่วจากหม้อแบตเตอรี่ อันตรายจากความดันอากาศ กำลังอากาศภายในเรือหากสูงไปหรือต่ำไปอาจเป็นอันตรายแก่หู และบางทีถึงชีวิตได้ ถ้าอากาศรั่วตามถัง ถังจะแตก หรืออาจจม อันตรายจากเครื่องมือขัดข้อง ถ้าประตูลิ้นปิดฝาช่องต่าง ๆ ชำรุดน้ำเข้าได้ทำให้เรือจม หากหางเสือนอนขัดข้อง สั่งดำเร็วเกินไปแก้ไขไม่ทัน ทำให้เรือจมได้เช่นกัน หากเครื่องโซนาร์ขัดข้องอาจทำให้เรือดำน้ำชนวัตถุใต้น้ำได้

          ความสามารถของเรือดำน้ำไทยที่ตอจากประเทศญี่ปุ่น นับว่าพอต่อการปฏิบัติงานและได้ผ่านการทดลองตามสัญญาแล้วครูญี่ปุ่นพ็พยายามควบคุมการต่อเรือประดุจเป็นเรือของราชนาวีญี่ปุ่นเอง เพราะเรือดำน้ำญี่ปุ่นก็ต่อที่อู่นี้เหมือนกันช่างชาวญี่ปุ่นจึงพยายามทำให้แก่ประเทศสยามเป็นอย่างดีเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี ระหว่างสยามกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เรือดำน้ำนี้เป็นเรือดำน้ำชุดแรกที่อู่สร้างตามแบบและขนาดนี้ซึ่งเป็นการออกแบบสร้างใหม่เพื่อประเทศสยามโดยเฉพาะทางอู่จึงพยายามรักษาชื่อเสียง เพราะต้องการให้สยามสั่งสร้างเรือดำน้ำขนาดใหญ่ต่อไปอีก