ข้อห้ามบางอย่างเมื่อไปหัดในเรือดำน้ำ

เรื่อง “ข้อห้ามบางอย่างเมื่อไปหัดในเรือดำน้ำ” นี้รวบรวมจากบันทึกของ เรือเอก สวัสดิ์ จันทนมณี

          ในโอกาสที่ทหารเรือไทยได้ถูกส่งไปหัดและศึกษาที่ไมซูรุ เมืองซึ่งเป็นฐานทัพเรือของญี่ปุ่น ทางปกครองได้ออกข้อห้ามหลายสิบข้อเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและได้ดำเนินไปตามข้อบังคับของกระทรวงทหารเรือญี่ปุ่น

"ข้อห้ามบางอย่าง” รวม ๓๔ ข้อนี้ นายนาวาเอก ยัตซุชิโร ท่านผู้ปกครองทหารเรือดำน้ำไทย ได้ให้ไว้เมื่อก่อนออกเดินทางไปรับเรือโระ ๖๔ จากไมซูรุมายังโกเบ ดังนั้นจึงมีบางข้อที่บ่งตรงถึงพวกทหารไทย ดังที่ท่านเคยได้พบข้อบกพร่องหรือความปฏิบัติตนอันควรต้องตักเตือน อีกประการหนึ่งคราวนี้เป็นคราวแรกที่พวกเราจะได้ลงหัดในเรือดำน้ำด้วย ดังนั้นท่านจึงวางกฎเหล่านี้ไว้ละเอียดมากสักหน่อย

ข้อบังคับบางข้อบางท่านอาจจะเห็นว่าไม่น่าบังคับ ดังนั้นจำต้องมีคำอธิบายประกอบ เพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

๑. ห้ามถ่ายและสเกทช์ภาพหรือวิว

ด้วยเหตุที่เมืองนี้เป็นฐานทัพเรือ วิวต่างๆ จึงเป็นของสงวนยิ่งนัก นอกจากนั้น วิวตามเมืองต่างๆ (เช่นโกเบเป็นต้น) ก็ห้ามดุจกัน ส่วนเมืองใดที่เป็นฐานทัพแล้วแม้แต่ภาพก็ถ่ายไม่ได้ ตามร้านเราจะหาซื้อบัตรภาพไม่ได้เช่นเดียวกัน ท่าเรือแทบทุกท่าเราจะเห็นป้ายว่า “Fortified Zone” เป็นส่วนมาก

๒. การส้วมให้กระทำเสียก่อนเตรียมเรือเข้ารบ

ในระหว่างดำห้ามส้วม

ก่อนกระทำการดำ ผู้บังคับการเรือมักกำหนดเวลาไว้ล่วงหน้าเสมอ ทหารทุกคนต้องส้วมให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เพราะว่าเมื่อดำลงไปแล้วการส้วมออกจะลำบากสักหน่อย โดยเหตุที่ส้วมมีอยู่ส้วมเดียว และถ้าส้วมภายในเรือ (หมายถึงภายในเปลือกในของเรือ) แล้วจะทำให้เหม็นและต้องใช้น้ำเป่า ซึ่งเป็นเรื่องลำบากกว่าเรือบนผิวน้ำมาก

ในเวลาสงคราม ถ้าเรือดำตั้งหลายๆ ชั่วโมง การส้วมก็พึ่งกระทำได้ภายในเรือ แต่อย่างไรก็ตามทหารทุกคนต้องหัดอดกลั้นในกิจชนิดนี้ สำหรับผู้ที่มีท้องร่วงก็จำเป็นต้องอนุญาต

ในการหัดของพวกเราที่แล้วๆ มานั้น ห้องส้วมเขาใช้เป็นห้องเก็บเสบียงเสียทีเดียว เพื่อกันความยุ่งยากเสียแต่ต้นมือ และการหัดดำของเราก็ไม่เคยเกิน ๒ ชั่วโมง สักคราวเดียว

๓. ในเวลาเรือแล่นบนผิวน้ำอนุญาตให้พักบนดาดฟ้า และในห้องเครื่องได้

เวลาเรือแล่นบนผิวน้ำนั้น ผู้มีหน้าที่ก็ไปประจำหน้าที่ของตน ส่วนผู้ที่ออกยามแล้วอาจจะพักได้ตามที่ซึ่งกำหนดไว้ การที่กำหนดไว้ทั้งสองแห่งนั้นก็เพื่อสะดวกทั้งพรรคนาวินและพรรคกลิน

อากาศในห้องเครื่องนั้น อับกว่าอากาศบนดาดฟ้านิดหน่อยเท่านั้น แม้ว่าในเวลาชาร์จไฟฟ้าก็ตาม มีเครื่องพัดลมระบายอากาศอยู่เสมอ ดังนั้นเราจะรู้สึกว่าอากาศทั้งภายนอกและในเรือเกือบไม่ผิดกันเลย

การที่อนุญาตให้เช่นนั้นก็มีประโยชน์มิให้ทหารฝ่ายไทยไปรุ่มร่ามแก่คนประจำหน้าที่ของเขาด้วยอีกประการหนึ่ง ส่วนผู้ที่ต้องการความรู้เพิ่มเติมก็ย่อมมีโอกาสสืบถามได้จากคนประจำหน้าที่นั้นๆ

๔. เวลาเรือแล่นให้ระวังหมวกจะตกน้ำ

เมื่อขึ้นบนดาดฟ้าบางขณะลมแรง ทหารย่อมระวังหมวกของตนเอง ถ้าตกน้ำเสียจะหาเปลี่ยนไม่ได้ ดังนั้นถ้าผู้ใดไม่มั่นใจควรเอาสายรัดคางลงเสีย

๕. ต้องขึ้นลงที่ฝาจมโพล่และบันไดโดยรวมเร็ว

การที่บังคับให้ขึ้นลงโดยรวดเร็วนี้ก็เพื่อหัดให้เป็นนิสัยต่อไปในเบื้องหน้าเพื่อประโยชน์แก่การเตรียมเรือเข้ารบหรือเวลาถูกคลื่นใหญ่

บางครั้งแม้ไม่มีความประสงค์จะดำก็ตาม ถ้ามีคลื่นใหญ่จำต้องถือท้ายภายในเรือ คนต้องลงประจำหน้าที่ภายในเรือหมด ดังนั้นจึงต้องลงบันไดโดยรวดเร็วทะยอยกันลงไป ถ้าชักช้าคลื่นอาจจะสาดเข้ามาในฝาจมโพล่ ซึ่งจะเกิดอุบัติเหตุภายหลังได้

การขึ้นลงบันไดนี้ห้ามมิให้สาวขั้นบันได ต้องจับตรงราวมิฉะนั้นนิ้วมืออาจจะถูกคนอื่นเหยียบก็ได้ ด้วยเหตุที่ช่องลง (หรือฝาจมโพล่) มีเนื้อที่เฉพาะคนๆ เดียว ดังนั้นจึงต้องหันหน้าเข้าหาขั้นบันได และต้องไต่โดยรวดเร็วจึงจะทันการไม่ว่าโอกาสใด

๖. ต้องระวังศีรษะและเท้าให้จงหนัก

ด้วยเหตุที่ภายในเรือมี แป๊บ, วาล์ว, เกช ฯลฯ ระเกะระกะไปหมด ทหารทุกคนต้องสวมหมากไว้เสมอ มิฉะนั้นศีรษะอาจจะกระแทกกับสิ่งเหล่านั้นได้ และการเดินต้องดูซ้ายขวาให้ทั่ว ที่ใดควรมุดหรือควรยืดตัวจักได้รู้ไว้ เพื่อสะดวกแก่การทำงานในเวลาแสงไฟน้อย

การที่ให้ระวังเท้าด้วยนั้น ก็กลัวจะเตะอะไรต่อมิอะไรนั่นเอง

ทั้งนี้เป็นการหัดให้ทหารทุกคนรู้จักระวังตัว และหัดสังเกตเพื่อเอาไว้ใช้การในเวลาฉุกละหุก

๗. เวลากลางคืนห้ามขึ้นบนดาดฟ้า

ทหารย่อมมีที่พักผ่อนในห้องของตนอยู่แล้ว ผู้ที่ว่างงานต้องอยู่ในห้องนี้ การที่ห้ามขึ้นนั้นก็เพื่อป้องกันมิให้ตกน้ำเท่านั้นเอง เพราะดาดฟ้าเป็นเหล็กโดยมาก แต่ภายหลังเมื่อมีความชินและความระมัดระวังตัวเองได้ดีพอแล้ว ก็เป็นอันว่าอนุญาตให้ขึ้นบนดาดฟ้าได้

ส่วนเวลากลางวันนั้น แม้จะตกน้ำลงไป ก็สามารถช่วยเหลือกันได้โดยทันท่วงที

๘. ห้ามสูบบุหรี่และจุดไฟภายในเรือ

การที่ห้ามจุดไฟหรือสูบบุหรี่นี้ ก็เพื่อป้องกันการระเบิดซึ่งเกิดจากเปลวงเพลิงนั้น

ทหารทุกคนถ้าอดบุหรี่ได้ ก็เป็นอันไม่ต้องกังวลไปข้อหนึ่ง แต่ตามความสังเกตของข้าพเจ้าเห็นว่านักดำน้ำทุกคนสูบบุหรี่จัด ทั้งนี้เพราะเวลาดำหรือลงไปอยู่ภายในเรือนานๆ ความกระหายบุหรี่ย่อมมีมาก ครั้นขึ้นบนดาดฟ้าได้เป็นต้องสูบตั้ง ๒ – ๓ มวนซ้อมก็มี

ภายในเรือเขาใช้ torchlight หรือ flashlight (ไต้ไฟฟ้า) กันทั่วไป แต่ตามปกติในที่เปิดเผยแสงไฟฟ้าก็สว่างพอแล้วการหุงต้มก็ใช้ความร้อนจากไฟฟ้า

๙. เวลาเตรียมเรือเข้ารบ ห้ามอยู่บนดาดฟ้า

เวลาเตรียมเรือเข้ารบก็คือขั้นแรกของการเตรียมดำนั่นเอง ผู้มีหน้าที่ต้องตรวจตราดูคนทุกคนมิให้หลงอยู่ในส้วมได้ และตรวจหน้าที่ของตนให้เรียบร้อยจึงรายงานผู้บังคับการเรือ แล้วให้รีบลงไปภายในเรือทุกคน

ถ้าบังเอิญหลงอยู่บนดาดฟ้าด้วยประการใดๆ ก็ตาม และเมื่อเรือดำลงไปแล้วให้โยกเทเลกราฟให้อยู่ตรง “หยุด” ไว้เสมอ แต่ถ้าทำไม่สำเร็จให้พยายามเอามือปิดหน้ากล้องตาเรือไว้ เพราะผู้บังคับการเรือย่อมไม่กล้าดำเลย ถ้ากล้องตาเรือถูกอะไรปิดเสียแล้ว แต่ห้ามแกล้งให้น้ำเข้าเรือ เพราะเรืออาจเป็นอันตรายได้ง่าย ต้องคิดถึงชีวิตคนหมู่มาก

๑๐. ขณะดำให้พูดค่อยๆ

ขณะดำอยู่นั้นเสียงเครื่องจักรย่อมอึกทึกมากโดยที่อยู่ในเขตจำกัด ดังนั้น “คำสั่ง” จากผู้บังคับการหรือต้นเรือเท่านั้นที่ต้องใช้ตะโกนอย่างชัดถ้อยชัดคำ ส่วนคำสั่งของต้นกลย่อมใช้สัญญาณ (เพราะถึงตะโกนก็ฟังออกได้ยาก)

ถ้ามีอุบัติเหตุให้ตะโกนตรอกท่อพูดมายังหอบังคับการอย่างดังและชัดเจน

ส่วนการติดต่ออื่นๆ ให้พยายามใช้สัญญาณ หรือใช้คำพูดอย่างเบาที่สุดเพื่อป้องกันมิให้คนอื่นเข้าใจผิดไปด้วย

๑๑. ขณะดำห้ามเคลื่อนที่ก่อนได้รับอนุญาต

การเคลื่อนที่ในทางตามย่อมย่อมทำให้ทริม (trim) เปลี่ยน คืออาจจะด้อยหัว หรือด้อยท้าย น้ำหนักคนเพียงคนเดียว เรือเล็กๆ ของเราก็ย่อมรู้สึกตัว ดังนั้นถ้าเราเปลี่ยนน้ำหนักไปก็ต้องรายงานเสียก่อน เพื่อต้นเรือจักได้เตรียมการแก้ไขได้ทันท่วงที

การเปลี่ยนที่ในทางตามขวางนั้นอนุญาตให้ทำได้

การเปลี่ยนยามอนุญาตให้ทำได้โดยปริยาย เพราะน้ำหนักที่ใช้สับเปลี่ยนนั้นมาชดเชยกันอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นหลักที่ถือกันอยู่ว่าตนต้องรู้จักที่นอนของตนดี ไม่ต้องไปเที่ยวนอนนอกเขตกำหนด

๑๒. เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ห้ามทำการใดๆ โดยพละการ

เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่นไฟลุก, น้ำเข้าเรือ, เรือเอียง, เรือด้อย , เครื่องเสีย ฯลฯ เหล่านี้ ให้รีบตะโกนทางกระบอกพูดรายงานมายังหอบังคับการทันที ห้ามมิให้ทำงานโดยพละการ

อย่างไรก็ตามอย่าถือเถรตรงนัก เช่นไฟไหม้จะมัวรอคำสั่งตามแบบนั้นก็เรียกว่าขาดปฏิภาณ หัวหน้างาน ณ ที่นั้นย่อมต้องรีบมาเอากระบอกฉีดยาดับเพลิงไปเตรียมไว้ก่อนได้ ส่วนการดับนั้นผู้บังคับการเรือหรือนายยามจะได้สั่งต่อภายหลัง เพราะอยู่กันใกล้ๆ แค่นั้นเอง

ขอย้ำว่าอนุญาตให้ทำก่อนได้ในเมื่อเห็นว่าปลอดภัยหรือป้องกันภัยที่จะลุกลามขึ้น แต่อย่าลืมตะโกนรายงานให้ทันท่วงทีเป็นอันขาด เพราะชีวิตของคนทุกคนย่อมอยู่ในกำมือของผู้บังคับการเรือซึ่งรับผิดชอบตลอดลำ

๑๓. ขณะดำห้ามวิ่ง

การวิ่งย่อมทำให้ทริมเปลี่ยนเร็วจักมีอันตราย อีกประการหนึ่งพื้นภายในเรือนั้นเป็นเหล็กทำให้ลื่นง่าย ถ้าวิ่งอาจพลาดเท้าสอดไปทำอันตรายแก่เครื่องอุปกรณ์ใดๆ ได้ หรือเท้าอาจเป็นอันตรายได้

อันตรายที่เกิดจากทริมเปลี่ยนนี้ คืออาจทำให้หัวทิ่มหรือหัวเชิด ซึ่งอาจเป็นเหตุให้น้ำกรดในหม้อหก ทำให้ช๊อตและระเบิดขึ้นได้ หรือมิฉะนั้นหัวเรืออาจทิ่มดิ่งลงไปก็ได้

ก่อนดำทุกคราวต้นเรือย่อมคำนวณและถ่ายน้ำบรรจุน้ำไว้ดีแล้ว ถ้ามีการเปลี่ยนทริมคราวใด ต้องรายงานให้หอบังคับการทราบเสมอเพื่อเตรียมแก้ไข

๑๔. ห้ามจับต้องวาล์วต่างๆ

ผู้ไม่มีหน้าที่ห้ามจับหรือหมุนวาล์วเล่นเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้น้ำทะเลรั่วไหลเข้ามาในเรือโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นเหตุให้เรือจมดิ่งลงก้นทะเลได้ง่าย

อีกประการหนึ่งถ้าเป็นวาล์วอากาศ อากาศจะรั่วไหลโดยไม่รู้ตัวย่อมเป็นเหตุให้โผล่ไม่ขึ้นก็ได้

๑๕. ห้ามนำเป้าโลหะเข้าใกล้หรือถูกต้องสวิทซ์ไฟฟ้า

ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ไฟฟ้าช๊อต ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดระเบิดขึ้นได้

๑๖. ห้ามใช้ชุดเพื่ออบอุ่นร่างกาย

การใช้ชุด (ใคโรโบ) เพื่ออบอุ่นร่างกาย ผู้ใช้ย่อมต้องจุดชุดแล้วไฟก็ลุกอยู่ภายในชัดนั้น ไฟในชุดนั้นเองจะเป็นเหตุให้เกิดระเบิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงห้ามใช้เสียทีเดียวแต่สำหรับเมื่อมาในสยามแล้ว อากาศย่อมไม่หนาวพอที่จะมาจุดชุดกันได้ นับว่าหมดปัญหาข้อนี้ไปโดยไม่ต้องกังวล

๑๗. ห้ามทิ้งเศษกระดาษนอกที่ที่กำหนด

ที่สำหรับทิ้งกระดาษหรือเศษผงภายในเรือมีกระป๋องอยู่ที่หน้าห้องสูทกรรมแห่งเดียว ผู้ใดใช้กระดาษ (เช่นกระดาษเช็ดน้ำมูก) ต้องเก็บไว้ในกระเป๋าของตนแล้ว นำมาทิ้งลงทะเลภายหลังจึงจะสะดวกมาก

การที่ห้ามนี้เพื่อห้องกันสกปรก แล้วป้องกันมิให้เศษกระดาษเหล่านี้ไปอุดรูหรือช่องต่างๆ เสีย

๑๘. ห้ามแขวนเสื้อผ้านอกที่ที่กำหนด

เสื้อผ้าในที่นี้หมายถึงเสื้อผ้าทุกชนิดตลอดจนถุงเท้า , ถุงมือ ยิ่งเป็นของเล็กๆ ก็ยิ่งสำคัญมากเพราะมองไม่ไคร่เห็น การที่ห้ามนี้เพื่อป้องกันมิให้เข้าไปพันหรือไปมัดสิ่งเคลื่อนไหว เช่นคันต่อเครื่องถือท้ายหรือคันต่อเทเลกราฟเป็นต้น

๑๙. ต้องประหยัดน้ำจืดให้มากที่สุด

ถังน้ำจืดในเรือบรรจุได้ไม่ถึง ๒ คัน ดังนั้น ต้องประหยัดกันยิ่งกว่าเรือรบชนิดใดๆ ทั้งหมด ข้อนี้ไม่จำเป็นต้องอธิบาย เวลาเดินทางไกลถ้าถังอับเฉาใด (ซึ่งไม่จำเป็นต้องถ่ายน้ำ) จะบรรจุน้ำจืดไว้บ้างก็ควร

๒๐. ห้ามวางของผิดที่

ทั้งนี้เกี่ยวกับทริมดังอธิบายไว้แล้ว และอีกประการหนึ่งก็เข้าตำรา “หยิบก็ง่าย หายก็รู้ ดูก็งาม”

๒๑. ให้อาเจียนในที่ที่กำหนดให้

ภายในเรือไม่มีกระโถน ที่ที่กำหนดให้อาเจียนก็คือบนดาดฟ้า แต่ข้อนี้ย่อมสุดวิสัยที่ผู้ต้องการอาเจียนจะทนทานได้ ในเมื่อผู้นั้นอยู่ภายในเรือ ข้อสำคัญมีว่าเมื่อ “อาเจียน” แล้วรีบเช็ดเสีย

๒๒. ห้ามบ้วนน้ำลาย

น้ำลายต้องหัดกลืน มิฉะนั้นต้องมายืนอยู่บนดาดฟ้าตลอดเวลา จะมิได้อีกวิธีหนึ่งก็คือบ้วนใส่กระดาษแล้วใส่กระเป๋าไว้

๒๓. ต้องจัดเวรทำความสะอาดและตั้งโต๊ะ

ข้อนี้เป็นธรรมดาไม่ต้องอธิบาย แต่เมื่อได้ไปหัดจริงๆ พวกเราไม่ต้องทำความสะอาดสักหน ส่วนการตั้งโต๊ะพวกเราก็มีแต่ปิ่นโตไปคอยรับอาหารจากสูทกรรมญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่เห็นต้องตั้งโต๊ะสักครั้ง

โต๊ะอาหารก็คือกระดานเตียงนอนของทหารนี่เอง แต่พับได้หรือหลุบปีกได้เวลานอนก็กางออกเป็นพื้นธรรมดาไป

๒๔. คำว่า “อาหารพิเศษ” คืออาหารทุกสิ่งนอกจากทางเรือแจกให้รับประทาน ทั้งนี้เพื่อหัดทหารไทยให้อดทน หรือมิให้พกของจุกจิกไปจะรุงรังเปล่าๆ

อาหารที่ทางเรือแจกให้รับประทานนั้นเหมือนกันหมดทุกคนตั้งแต่ผู้บังคับการเรือจนถึงพลประจำเรือ

๒๕. ห้ามเข้าครัว

ครัวที่เรือนั้น เข้าไป ๓ คนก็เบียดกันแล้ว ใครขืนเข้าไปเรียกว่าขโมยของรับประทานเท่านั้น

๒๖. ห้ามรับประทานอาหารนอกที่ที่กำหนด

ทหารต้องรับประทานที่โต๊ะอาหาร เว้นเสียแต่วันใดที่แน่น ผู้บังคับบัญชาอาจจะสั่งให้ขึ้นมารับประทานบนดาดฟ้าได้เป็นครั้งคราว

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พื้นท้องเรือเปิดเพื่อตรวจหม้อแบตเตอรี่ พวกเราต้องกระจายกันรับประทานทั่วไป เราต้องระวังเสียแย่เพราะถ้าปิ่นโตอัลลูมิเนียมซึ่งถืออยู่นั้นถ้าตกลงไปถูกหม้อไฟฟ้าเข้าแล้วอาจจะ ทำให้ไฟซ๊อตขึ้นได้

๒๗. จัดสิ่งของให้เรียบร้อยเสมอ

สิ่งของที่นำติดตัวไปนั้นมีผ้าห่มนอน ๒ ผืน ถุงมือทำงาน หมวดเสื้อกางเกงทำงาน เสื้อคลุมกันหนาว ปิ่นโต เครื่องล้างหน้าสีฟัน (บางครั้งถ้ามีกำหนดจะพบนายทหารชั้นผู้ใหญ่ พวกนายทหารเราก็มีถุงมือขาวและเครื่องราชอิสริยาภรณ์จำลองไปด้วย)

๒๘. ห้ามนอนนอกที่ที่กำหนด

เนื่องด้วยทริมดังกล่าวแล้ว และเพื่อจะตรวจคนได้ง่าย

๒๙. เมื่อยังไม่ถอดรองเท้า ห้ามเหยียบโต๊ะ เก้าอี้หรือเท้าแขน

ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้สิ่งของที่ถูกเหยียบนั้นสกปรกเท่านั้นเอง

๓๐. เวลาส้วมต้องใช้กระดาษอย่างนิ่มชำระ

เสร็จแล้วต้องสูบน้ำไล่ทิ้ง

ส้วมบนดาดฟ้าเท่านั้นที่พวกเราใช้ส้วมกัน (เพราะส้วมในเรือกลายเป็นคลังเสบียงไปเสียแล้ว)

การที่ห้ามก็เพื่อป้องกันมิให้ส้วมตัน

๓๑. การส้วมให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ

คำแนะนำที่ปิดไว้ในส้วมภายในเรือเป็นอันว่าไม่ได้อ่าน เพราะไม่เคยได้ใช้ส้วมสักที

๓๒. ห้ามใช้รองเท้าที่ตอกหมุดที่พื้น

หมุดที่พื้นรองเท้าคือเหล็กกันรองเท้าสึก การที่ห้ามเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้ลื่นเวลาอยู่ในเรือประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็เพื่อป้องกันมิให้เกิดประกายไฟในเวลาเดิน

๓๓. ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง

ข้อนี้ไม่ต้องอธิบาย

๓๔. อาหารที่จัดให้ แม้ไม่รับประทานก็ต้องเสียเงิน

ข้อนี้เพื่อตัดความยุ่งยากอันเกิดจากคนที่กินบ้างเว้นบ้าง