๗ มีนาคม ๒๕๖๗ วันคล้ายสถาปนา ยศ.ทร.ครบรอบ ๑๒๑ ปี

Release Date : 13-02-2024 00:00:01
๗ มีนาคม ๒๕๖๗ วันคล้ายสถาปนา ยศ.ทร.ครบรอบ ๑๒๑ ปี

                                                  ประวัติความเป็นมากรมยุทธศึกษาทหารเรือ

          กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้เริ่มตั้งเป็นกรมอิสระขึ้นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๗ ตรงกับวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ปีเถาะ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นหน่วยขึ้นตรงกรมทหารเรือ(คำสั่งกรมทหารเรือ ที่ ๑/๑๕๕๒ ลงวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ ร.ศ.๑๒๒) (กองทัพเรือ) โดยมีที่ทำการอยู่ บริเวณพระราชวังเดิม(พระราชวังสมเด็จพระตากสินมหาราช)จังหวัดธนบุรี มีหน้าที่บังคับบัญชาโรงเรียนนายเรือ ซึ่งขณะนั้นมีแผนกที่ขึ้นตรงอยู่ ๒ แผนกคือ กองโรงเรียนนายเรือ และ กองแผนที่ ทั้งนี้มีนายเรือเอกผู้ช่วยหม่อมไพชยนต์เทพ (หม่อมราชวงศ์ พิณ สนิทวงศ์) เป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือคนแรก มีสถานที่ทำงานตั้งอยู่ ณ พระตำหนักเก๋งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระตำหนักเก๋งพระปิ่น

          ต่อมา  เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๔ ทางราชการให้ยุบจากกรมอิสระเป็นกรมย่อย ขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของกรมเสนาธิการทหารเรือ และได้ยุบเลิกไปเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๙ โดยเหลือไว้เฉพาะกองโรงเรียนนายเรือ ซึ่งให้ขึ้นตรงต่อกรมเสนาธิการทหารเรือแทน สาเหตุที่ถูกยุบไปเนื่องจากรัฐบาลในสมัยนั้น

ประสบปัญหาเรื่องงบประมาณแผ่นดินจึงจำเป็นต้องลดรายจ่ายประเภทเงินเดือน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลงมาให้อยู่ในระดับดุลยภาพกระทรวงทหารเรือ (ชื่อซึ่งเรียกในสมัยนั้น)ได้ถูกตัดงบประมาณลงไปส่วนหนึ่งและเพื่อให้ราชการดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องยุบส่วนราชการบางส่วนออกไป

          ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ ทางราชการได้ตระหนักถึงงานด้านการศึกษาว่ามีความสำคัญต่อกองทัพเรือเป็นอย่างยิ่งเพราะปรากฏตามข้อเท็จจริงว่าความเจริญก้าวหน้าของหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพเรือจะต้องอาศัยวิชาการและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเป็นมาตรฐานจึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี นอกจากนั้น การศึกษาจะมีคุณภาพและเกิดประสิทธิผลได้ก็จำเป็นต้องมีหน่วยงานรองรับเพื่อทำหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบอย่างใกล้ชิด จึงจะทำให้งานบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ได้ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงได้มีการตั้งกรมยุทธศึกษาทหารเรือ ขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๖ หลังจากถูกยุบเลิกไปเป็นเวลานานถึง ๑๗ ปี แต่กรมที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ เป็นเพียงหน่วยขึ้นตรงอยู่ในบังคับบัญชาของกรมเสนาธิการทหารเรือเช่นเดิม จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๘ ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพเรือในกระทรวง กลาโหม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๘ ตั้งให้กรมยุทธศึกษาทหารเรืออยู่ในส่วนการศึกษาและเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ         

      กรมยุทธศึกษาทหารเรือที่ตั้งขึ้นในครั้งหลังนี้มีที่ทำการอยู่ภายในบริเวณพระราชวังเดิมเหมือน ครั้งแรก แต่สถานที่ทำการได้ย้ายจากพระตำหนักเก๋งพระปิ่นไปอยู่ ณ ตึกที่ประทับของกรมพระราชวังบวร วิไชยชาญ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตึกบวรวิไชยชาญ โดยกองบังคับการ กรมยุทธศึกษาทหารเรือตั้งอยู่ชั้นบนส่วนชั้นล่างเป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือ มีหน่วย ขึ้นตรงในบังคับบัญชารวม ๗ หน่วย คือ แผนกที่ ๑-๓ แผนกอนุศาสนาจารย์กองโรงเรียนนายเรือ กองโรงเรียนชุมพลทหารเรือ และโรงเรียนปืนใหญ่

           ตึกบวรวิไชยชาญตั้งอยู่ภายในกำแพงพระราชวังเดิมชั้นในทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของท้องพระโรงต่อมาตึกหลังนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมลง อีกทั้งยังคับแคบไม่เพียงพอแก่การปฏิบัติราชการ กองทัพเรือจึงอนุมัติงบประมาณเพื่อสร้างตึกหลังใหม่ขึ้นบนเนื้อที่เดิมโดยรื้อตึกบวรวิไชยชาญ แต่ได้ขยายให้มีความ กว้าง-ยาวกว่าเดิม มีลักษณะเป็นอาคาร ๒ ชั้นหลังคาทรงไทย มุงด้วยกระเบื้องวิบูลย์ ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๖ และสร้างเสร็จบริบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๔๙๙

         ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๐ ได้ย้ายที่ทำการกรมยุทธศึกษาทหารเรือจากอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ไปอยู่ ณ อาคารโรงเรียนเตรียมนายเรือ (อาคารส่วนบัญชาการอาคาร ๑ ในปัจจุบัน)ส่วนอาคารกรมยุทธศึกษาทหารเรือหลังเดิมให้ใช้เป็นที่ทำการส่วนบัญชาการกองทัพเรือแทน

         หลังจากกรมยุทธศึกษาทหารเรือย้ายที่ทำการไปอยู่ที่อาคารโรงเรียนเตรียมนายเรือประมาณ  ๒ ปี ก็ได้ย้ายกลับไปอยู่ที่อาคารกรมยุทธศึกษาทหารเรือ  ที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยนั้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๒ และอยู่ต่อมาจนถึง วันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๖ กองทัพเรือได้อนุมัติให้ทำการ ปรับปรุงสถานที่ทำงานของผู้บังคับบัญชา  ณ ตึกบัญชาการกองทัพเรือเสียใหม่ กรมที่ทำการจึงย้ายไปอยู่ที่อาคารที่ทำการเดิมของฐานทัพเรือกรุงเทพ (อยู่ในเขตพื้นที่กรมสารวัตรทหารเรือในปัจจุบัน อาคารดังกล่าวได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว เพื่อใช้สร้างหอประชุม กองทัพเรือ สำหรับรองรับการประชุม APEC

         ในช่วงนี้กองทัพเรือได้สร้างอาคารที่ทำการกรมยุทธศึกษาทหารเรือขึ้นใหม่บริเวณใกล้เคียงกับสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง อาคารกรมยุทธศึกษาทหารเรือหลังใหม่นี้ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๓ ชั้น ขนาดกว้าง๔๐ x ๖๐ เมตร ตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๕๖ ไร่ ๒ งาน ๙ ตารางวาได้รับงบประมาณจาก กองทัพเรือให้ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๓๗ ในวงเงิน ๓๙,๕๑๕,๐๐๐.-บาท(สามสิบเก้าล้านห้าแสนหนึ่งหมื่นห้าพันบาทถ้วน)ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๗ และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๘

        แต่เนื่องจากปลายปี พ.ศ.๒๕๓๘ ได้เกิด สภาวะน้ำท่วมขังอย่างหนัก บริษัทผู้รับเหมาไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ตามสัญญา ทำให้การ ก่อสร้างต้องล่าช้าออกไปอีกระยะหนึ่ง ในที่สุดการก่อสร้างได้แล้วเสร็จและส่งมอบอาคารเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๙   และกรมยุทธศึกษาทหารเรือได้ย้ายเข้าที่ทำการแห่งใหม่ซึ่งตั้งอยู่  ณ เลขที่ ๑๐๖ ถนนไทยาวาส หมู่ที่ ๓ ตำบลศาลายา   อำเภอพุทธมณฑล   จังหวัดนครปฐม เมื่อวันอังคารที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๑๒ ปีกุน