Header image  
 
line decor
  HOME  ::  
line decor
   
 
ประวัติศาสตร์กีฬาตะกร้อของประเทศไทย
โดย... นายปิยศักดิ์ มุทาลัย
BY... PIYASAK MUTALAI

tk01

 เมื่อบรรพกาล อนุมานว่า ปี พ.ศ. 2133-2149 (ค.ศ. 1590-1606) ประเทศไทย เดิมชื่อ "ประเทศสยาม" เมื่อครั้ง "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในยุคสมัย "กรุงศรีอยุธยา" เป็นเมืองหลวง คนไทยหรือคนสยาม มีการเริ่มเล่นตะกร้อที่ทำด้วย"หวาย" ซึ่งเป็นการเล่น "ตะกร้อวง" (ล้อมวงกันเตะ)
ปี พ.ศ. 2199-2231 (ค.ศ. 1656-1688) มีหลักฐานพอจะอ้างอิงได้ว่า ในสมัย "สมเด็จพระนารายณ์มหาราช" ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในยุคสมัย กรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองหลวง มีคณะสอนศาสนาชาว "ฝรั่งเศส" มาพำนักในกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2205 (22 August 1662) มีการสร้างวัดนักบุญยอเซฟ นิกายโรมันคาทอริก ซึ่งมีบันทึกของ "บาทหลวง เดรียง โลเนย์" ว่าชาวสยามชอบเล่นตะกร้อกันมาก
ต่อมา ปี พ.ศ. 2315 (ค.ศ. 1771) เป็นช่วงหมดยุค "กรุงศรีอยุธยา" ซึ่งเป็นตอนต้นแห่งยุคสมัย "กรุงธนบุรี" เป็นเมืองหลวง ได้มีชาวฝรั่งเศสชื่อ "นายฟรังซัว อังรี ตุระแปง" ได้บันทึกในหนังสือชื่อ "HISTOIRE DU ROYAUME DE SIAM" พิมพ์ที่ "กรุงปารีส" ระบุว่า"ชาวสยาม" ชอบเล่นตะกร้อในยามว่างเพื่อออกกำลังกาย
ปี พ.ศ. 2395 (ค.ศ. 1850) ในยุค "กรุงรัตนโกสินทร์" หรือ กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวง ยังมีข้ออ้างอิงในหนังสือชื่อ "NARATIVE OF A FESIDENCE IN SIAM" ของชาวอังกฤษชื่อ "นายเฟรเดอริค อาร์ เซอร์นีล" ระบุว่ามีการเล่นตะกร้อในประเทศสยาม
การเล่นตะกร้อ ของคนไทยหรือคนสยาม มีหลักฐานอ้างอิงค่อนข้างจะชัดเจนว่ามีการเล่นกันมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคสมัย "กรุงศรีอยุธยา" เป็น เมืองหลวง พยานหลักฐานสำคัญที่จะยืนยันหรืออ้างอิงได้ดีที่สุด น่าจะเป็นบทกวีในวรรณคดีต่าง ๆ ของแต่ละยุคสมัยที่ร้อยถ้อยความเกี่ยวพันถึง "ตะกร้อ" ไว้ เช่น
ปี พ.ศ. 2276-2301 (ค.ศ. 1733-1758) ในยุคสมัย "พระเจ้าบรมโกศ" ครอง "กรุงศรีอยุธยา" ซึ่งเป็นยุคที่วรรณคดีหรือวัฒนธรรมด้านอักษรศาสตร์เฟื่องฟู ก็มีกวีหลายบทเกี่ยวพันถึง "ตะกร้อ"
ปี พ.ศ. 2352-2366 (ค.ศ. 1809-1823) เป็นยุคตอนต้นของ "กรุงรัตนโกสินทร์"(กรุงเทพมหานคร) เป็นเมืองหลวง สมัย "พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย"(รัชกาลที่ 2) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในพระราชนิพนธ์ร้อยกรองของวรรณคดีเรื่อง "อิเหนา"และเรื่อง "สังข์ทอง" มีบทความร้อยถ้อยความเกี่ยวพันถึง "ตะกร้อ" ด้วย
ปี พ.ศ. 2366-2394 (ค.ศ. 1823-1851) ในยุคสมัย "กรุงรัตนโกสินทร์" เป็นเมืองหลวง สมัย "สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" (รัชกาลที่ 3) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ในบทกวีของ"สุทรภู่" กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เขียนบทกวี นิราศเมืองสุพรรณ ในปี พ.ศ. 2384 (ค.ศ. 1841) มีร้อยถ้อยความเกี่ยวพันถึง "ตะกร้อ" ไว้เช่นกัน
เหตุผลหรือข้ออ้างที่กล่าวมาทั้งหลายทั้งปวง ย่อมถือเป็นพยานหลักฐานไว้ว่า "คนสยามหรือคนไทย" ได้เล่น "ตะกร้อ" มาเป็นเวลาช้านานแล้ว
ปี พ.ศ. 2468-2477 (ค.ศ. 1925-1934) ในยุคสมัย "กรุงรัตนโกสินทร์" เป็นเมืองหลวง สมัย "สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 7) ได้มีการปรับปรุงหรือดัดแปลงการเล่นตะกร้อขึ้นหลายรูปแบบ ซึ่งมี "ตะกร้อลอดห่วง", "ตะกร้อข้ามตาข่าย", "ตะกร้อชิงธง", "ตะกร้อพลิกแพลง" และ "การติดตะกร้อตามร่างกาย"
ปี พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) โดย "หลวงมงคลแมน" ชื่อเดิม "นายสังข์ บูรณะศิริ" เป็นผู้ริเริ่มวิธีการเล่น "ตะกร้อลอดห่วง" และเป็นผู้คิดประดิษฐ์ "ห่วงชัยตะกร้อ" ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเดิม "ห่วงชัยตะกร้อ" เรียงติดกันลงมา มี 3 ห่วง แต่ละห่วงมีความกว้างไม่เท่ากัน กล่าวคือ ห่วงบนเป็นห่วงเล็ก, ห่วงกลางจะกว้างกว่าห่วงบน และห่วงล่างสุดมีความกว้างกว่าทุกห่วง เรียกว่า "ห่วงใหญ่"
ต่อมาได้มีการปรับปรุง-เปลี่ยนแปลง รูปทรงของห่วงชัยเป็น "สามเส้าติดกัน" โดยทั้ง 3 ห่วง (สามด้าน) มีความกว้างเท่ากัน ดังที่ใช้ทำการแข่งขันในปัจจุบัน
การติดตะกร้อตามร่างกาย สมควรต้องบันทึกหรือเขียนไว้เป็นหลักฐานด้วย เพราะถือว่าเป็นความสามารถพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งการติดลูกตะกร้อไว้ตามร่างกายเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ต้องได้รับการฝึกอย่างมากประกอบกับพรสวรรค์ เพราะการติดลูกตะกร้อ ต้องกระทำกันโดยลูกตะกร้อลอยมาในอากาศ และผู้เล่นต้องใช้อวัยวะของร่างกาย เช่น หน้าผาก, ไหล่, คอ, คาง, ข้อพับแขน, ข้อพับขาด้านหลังหรือขาหนีบ เป็นต้น โดยไม่ให้ลูกตะกร้อตกพื้น ผู้ที่สมควรบันทึกไว้เป็นหลักฐานหรือเกียรติประวัติ มีจำนวน 5 คนได้แก่
1. ปี พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) หม่องปาหยิน (คนพม่า) สามารถติดตะกร้อได้จำนวน 5 ลูก
การที่นำเอาชื่อ หม่องปาหยิน บันทึกไว้เป็นประวัติการติดลูกตะกร้อของไทย ก็เพราะว่าหม่องปา
หยิน อาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยยังหนุ่ม มีภรรยาเป็นคนไทย, ประกอบอาชีพอยู่ในประ -
เทศไทย จนเสียชีวิต
2. นางชลอศรี ชมเฉวก เป็นชาว อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ สามารถติดลูกตะกร้อได้ จำนวน 9 ลูก
3. นายแปลง สังขวัลย์ เป็นชาว กรุงเทพมหานคร สามารถติดลูกตะกร้อได้ จำนวน 9 ลูก
4. นายคล่อง ไตรสุวรรณ เป็นชาว อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถติดลูกตะกร้อได้ 11 ลูก
5. นายประสงค์ แสงจันทร์ เป็นชาว จังหวัดสิงห์บุรี สามารถติดลูกตะกร้อได้จำนวน 24 ลูก ซึ่งมี
การดัดแปลงลูกตะกร้อบางลูกให้เล็กลง (ปัจจุบันอายุ 64 ปี ยังสามารถทำการแสดงโชว์)

ในช่วงปี พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) คนสยามหรือคนไทย มีความชื่นชอบกีฬาตะกร้อกันอย่างแพร่หลายขึ้น เพราะตามเทศกาลงานวัดต่าง ๆ ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น วัดสระเกศ (ภูเขาทอง), วัดโพธิ์ท่าเตียน, วัดอินทรวิหาร (บางขุนพรหม) ได้เชิญ หม่องปาหยิน ไปแสดงโชว์การติดลูกตะกร้อตามร่างกาย ซึ่งมีการเก็บเงินค่าชมด้วย หลังยุค หม่องปาหยิน ยังมี หม่อมราชวงศ์อภินพ นวรัตน์ (หม่อมป๋อง) เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความสามารถเล่นตะกร้อพลิกแพลง ซึ่งก็ได้รับเชิญไปเดาะตะกร้อโชว์ตามเทศกาลงานวัด, โรงเรียน และมหาวิทยาลัยด้วย
ปี พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) ได้มีการจดทะเบียนก่อตั้ง "สมาคมกีฬาสยาม" อย่างเป็นทางการ โดยมี "พระยาภิรมย์ภักดี" เป็น นายกสมาคมกีฬาสยาม คนแรก ซึ่งได้จัดให้มีการแข่งขัน "ตะกร้อข้ามตาข่าย" ที่ท้องสนามหลวง เป็นครั้งแรก
ปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) นายผล พลาสินธุ์ ร่วมกับ นายยิ้ม ศรีหงส์, หลวงสำเร็จวรรณกิจ และ ขุนจรรยาวิทิต ได้ปรับปรุง-แก้ไขวิธีการเล่น ตะกร้อข้ามตาข่าย ซึ่งบางคนก็ได้อ้างว่า กลุ่มของ นายผล พลาสินธุ์ เป็นผู้คิดวิธีการเล่นตะกร้อ "ข้ามเชือก" มาก่อน โดยดัดแปลงจากกีฬา "แบดมินตัน" และได้มีการจัดการแข่งขันที่ "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เป็นครั้งแรก
ข้ออ้างดังกล่าว ผู้เขียนไม่สามารถยืนยันได้ และขอยกคุณงามในคุณูปการให้แก่ทุกท่านที่กล่าวนามไว้เป็นสาระสำคัญ
ปี พ.ศ. 2475-2479 (ค.ศ. 1932-1936) นายยิ้ม ศรีหงส์ ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ "โรงพิมพ์ศรีหงส์" เป็น นายกสมาคมกีฬาสยาม คนที่ 2 ได้จัดการแข่งขันกีฬาไทยหลายอย่าง เช่น กีฬาว่าว, ตะกร้อลอดห่วง, ตะกร้อข้ามตาข่าย, ตะกร้อวงเล็ก, ตะกร้อวงใหญ่ และตะกร้อชิงธง ที่ท้องสนามหลวง เป็นการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ ฉบับแรกของประเทศสยาม หรือประเทศไทย
ปี พ.ศ. 2476 (ค.ศ. 1933) นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย ร.น. ได้ก่อตั้ง "กรมพลศึกษา" และท่านก็ได้ดำรงตำแหน่ง "อธิบดีกรมพลศึกษา" คนแรก จึงได้รับสมญานามว่า "บิดาแห่งกรมพลศึกษา" ซึ่งท่านเป็นผู้มีความสำคัญยิ่ง ในการปรับปรุง-แก้ไข วิธีการเล่นตะกร้อ โดยมีผู้ให้ความช่วยเหลือที่สำคัญ จำนวน 5 คน คือ คุณพระวิบูลย์, คุณหลวงมงคลแมน, คุณหลวงประคูณ, พระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ และ พระยาภักดีนรเศรษฐ (นายเลิด) เป็นเจ้าของกิจการรถเมล์และโรงน้ำแข็ง
ปี พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) พระยาจินดารักษ์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง "อธิบดีกรมพลศึกษา"คนที่ 2 ท่านได้เป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุง-แก้ไข กติกากีฬาตะกร้อข้ามตาข่าย ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่ง "กรมพลศึกษา" ได้ประกาศใช้กติกากีฬาตะกร้อข้ามตาข่าย อย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) และจัดให้มีการแข่งขันระหว่างโรงเรียนมัธยมชาย ขึ้นทั่วประเทศไทย ด้วย
ปี พ.ศ. 2480-2484 (ค.ศ. 1937-1941) นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย ร.น. ได้เป็น "นายกสมาคมกีฬาสยาม"
ในช่วงปี พ.ศ. 2482 (ปี ค.ศ. 1939) "ประเทศสยาม" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ประเทศไทย" จึงทำให้ นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย ร.น. ดำรงตำแหน่งสองสถานภาพในคราวเดียวกัน กล่าวคือ ดำรงตำแหน่ง "นายกสมาคมกีฬาสยาม" และ "นายกสมาคมกีฬาไทย" ด้วย เพราะว่า"สมาคมกีฬาสยาม" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สมาคมกีฬาไทย" ตามการเปลี่ยนชื่อของประเทศ นั่นเอง
ปี พ.ศ. 2484-2490 (ค.ศ. 1941-1947) พระยาจินดารักษ์ เป็น นายกสมาคมกีฬาไทย
ปี พ.ศ. 2490-2498 (ค.ศ. 1947-1955) พันเอกหลวงรณสิทธิ์ เป็น นายกสมาคมกีฬาไทย
ปี พ.ศ. 2497-2498 (ค.ศ. 1954-1955) จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็น ผู้อุปถัมภ์พิเศษ
ปี พ.ศ. 2498-2500 (ค.ศ. 1955-1957) จอมพลเรือหลวงยุทธศาสตร์โกศล ร.น.
เป็น นายกสมาคมกีฬาไทย
ปี พ.ศ. 2500-2503 (ค.ศ. 1957-1960) พลเอกประภาส จารุเสถียร เป็น นายกสมาคมกีฬาไทย
ในปี พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) พลเอกประภาส จารุเสถียร ได้นำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์ปัจจุบัน) ขอให้ "สมาคมกีฬาไทย" อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์
วันที่ 18 เมษายน 2503 (18 April 1960) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับ "สมาคมกีฬาไทย" ไว้ใน "พระบรมราชูปถัมภ์"
สมาคมกีฬาไทย จึงได้เปลี่ยนสถานภาพเป็น "สมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์"ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ปี พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน "กีฬาแหลมทอง" หรือ"เซียพเกมส์" ครั้งที่ 1 ประเทศพม่า ได้นำนักกีฬาตะกร้อ (พม่า เรียกตะกร้อว่า "ชินลง") มาเล่นหรือแสดงตามรูปแบบของพม่า ให้คนไทยได้ชมในลักษณะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
ปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) ประเทศพม่า เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน "กีฬาเซียพเกมส์" ครั้งที่ 2 ได้เชิญนักกีฬาตะกร้อไทยไปร่วมโชว์แสดง ซึ่งประเทศไทย ได้ส่งทีมตะกร้อลอดห่วง ไปทำการโชว์แสดง และได้รับการชื่นชอบจากชาวพม่าเป็นอย่างมาก
ปี พ.ศ. 2504-2511 (ปี ค.ศ. 1961-1968) พลเอกประภาส จารุเสถียร เป็น นายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ปฐมเหตุแห่งการบรรจุเข้าสู่กีฬาระดับชาติ
กีฬาตะกร้อ เป็นกีฬาของชนชาติเอเชีย ซึ่งมีหลายประเทศนิยมเล่นกัน แต่ละประเทศก็มีวิธีการเล่นหรือกติกาที่แตกต่างกัน
พม่า เตะกันแบบล้อมเป็นวง (5-6 คน) พม่า เรียกตะกร้อว่า "ชินลง"
มาเลเซีย เล่นตะกร้อข้ามตาข่าย ซึ่งดัดแปลงการเล่นมาจากกีฬาวอลเลย์บอล แต่ได้กำหนดให้สนามเล็กลง และมีผู้เล่นน้อยลง (จาก 6 คน เหลือ 3 คน) เรียกว่า "เซปัก รากา จาริง"โดยแปลความหมายได้ว่า "เตะตะกร้อข้ามตาข่าย" มาเลเซีย เรียกตะกร้อว่า "รากา"
กำเนิดกีฬาเซปักตะกร้อ
ระหว่างเดือน มีนาคม-เมษายน 2508 (March-April 1965) สมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานเทศกาล "กีฬาไทย" โดยจัดให้มีการแข่งขัน ว่าว, กระบี่-กระบอง และตะกร้อ ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ซึ่งครั้งนั้น สมาคมกีฬาตะกร้อ จากเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ได้นำวิธีการเล่นตะกร้อของ "มาเลเซีย" คือ "เซปัก รากา จาริง" มาเผยแพร่ให้คนไทยรู้จัก ในเชิงเชื่อมสัมพันธไมตรี และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกติกาของตะกร้อไทยด้วย
สมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดให้มีการสาธิตกีฬาตะกร้อของทั้งสองประเทศ ระหว่างไทย กับ มาเลเซีย โดยผลัดกันเล่นตามกติกาของ "มาเลเซีย" 1 วัน, เล่นแบบกติกา ของไทย 1 วัน
กติกาของไทยสมัยก่อน เรียกว่า "ตะกร้อข้ามตาข่าย" สาระสำคัญของกติกาพอสังเขป ดังนี้
1. สนามแข่งขันและตาข่ายคล้ายกันกับ กีฬาแบดมินตัน (ความยาวสนามสั้นกว่า)
2. จำนวนผู้เล่นและคะแนนการแข่งขัน
2.1 การเล่น 3 คน แต่ละเซท จบเกมที่ 21 คะแนน (แข่งขัน 2 ใน 3 เซท)
2.2 การเล่น 2 คน (คู่) แต่ละเซท จบเกมที่ 15 คะแนน (แข่งขัน 2 ใน 3 เซท)
2.3 การเล่น 1 คน (เดี่ยว) แต่ละเซท จบเกมที่ 11 คะแนน (แข่งขัน 2 ใน 3 เซท)
3. ผู้เล่นแต่ละคน-แต่ละทีม สามารถเล่นได้ไม่เกิน 2 ครั้ง (2 จังหวะ)
4. ผู้เล่นแต่ละคน-แต่ละทีม ช่วยกันไม่ได้ หากผู้ใดถูกลูกตะกร้อจังหวะแรก ผู้นั้นต้องเล่นลูกให้ข้าม
ตาข่ายต่อไป
5. การเสิร์ฟ แต่ละคนต้องโยนและเตะลูกด้วยตนเองตามลำดับกับมือ ซึ่งเรียกว่ามือ 1, มือ 2 และมือ
3 มีลูกสั้น-ลูกยาว
กติกาของมาเลเซีย เล่นแบบ "ข้ามตาข่าย" เช่นเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า "เซปัก รากา จาริง"ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ดัดแปลงการเล่นมาจาก กีฬาวอลเลย์บอล โดยมีนักกีฬาฝ่ายละ 3 คน แต่ละคนสามารถเล่นลูกตะกร้อได้คนละ ไม่เกิน 3 ครั้ง/จังหวะ และสามารถช่วยกันได้ ต้องให้ลูกตะกร้อข้ามตาข่าย ซึ่งเมื่อก่อน "เซปัก รากา จาริง" แต่ละเซทจบเกมที่ 15 คะแนน แข่งขัน 2 ใน 3 เซท เช่นเดียวกัน
การสาธิตกีฬาตะกร้อระหว่างไทย กับ มาเลเซีย
วันแรก เล่นกติกาของไทย ปรากฏว่าไทยชนะด้วย 21 ต่อ 0 คะแนน นักกีฬาไทยประกอบด้วย 1. จ.ส.ต.เจริญ ศรีจามร, 2. ร.อ.จำเนียร แสงสม และ 3. นายชาญ ธรรมวงษ์ ซึ่งทั้ง 3 คนได้เสียชีวิตแล้ว
วันที่สอง เล่นกติกาของมาเลเซีย ปรากฏว่ามาเลเซีย ชนะด้วย 15 ต่อ 1 คะแนน นักกีฬาไทยประกอบด้วย 1. ส.อ.สวัลย์ วงศ์พิพัฒน์, 2. นายประเสริฐ นิ่มงามศรี และ 3. นายสำเริง หวังวิชา ซึ่งทั้ง 3 คนได้เสียชีวิตแล้ว
จากผลของการสาธิต แสดงให้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างถนัดหรือมีความสามารถการเล่นในกติกาของตน จึงได้มีการประชุมพิจารณาร่วมกัน กำหนดกติกาการเล่นตะกร้อขึ้นใหม่ เพื่อนำเสนอเข้าแข่งขันใน "กีฬาเซียพเกมส์" ต่อไป
ข้อตกลงสรุปได้ดังนี้...
- วิธีการเล่นและรูปแบบสนามแข่งขัน ให้ถือเอารูปแบบของประเทศ "มาเลเซีย"
- อุปกรณ์การแข่งขัน (ลูกตะกร้อ-เน็ต) และขนาดความสูงของเน็ต ให้ถือเอารูปแบบของประเทศ
"ไทย"
- และได้ตั้งชื่อกีฬาตะกร้อนี้ว่า "เซปัก-ตะกร้อ" เป็นภาษาของ 2 ชาติรวมกัน กล่าวคือคำว่า"เซปัก"
เป็นภาษามาเลเซีย แปลว่า "เตะ" คำว่า "ตะกร้อ" เป็นภาษาไทย หมายถึง ลูกบอล
ปี พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1695) ประเทศมาเลเซีย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน "กีฬาเซียพเกมส์" ครั้งที่ 3 ได้บรรจุ "กีฬาเซปักตะกร้อ" เข้าแข่งขันระดับชาติเป็นครั้งแรก โดยมีการแข่งขันประเภททีมชุดเพียงประเภทเดียว (แข่งขัน 2 ใน 3 ทีม) ซึ่งมีทีมส่งเข้าร่วมการแข่งขัน 3 ชาติ ได้แก่ มาเลเซีย, ไทย และสิงคโปร์ การแข่งขันครั้งนั้น ทีมไทยกับทีมมาเลเซีย เป็นคู่ชิงชนะเลิศ ผลของการแข่งขันปรากฏว่า ทีมมาเลเซีย ได้ครองเหรียญทอง สามารถชนะทีมไทยทั้ง 3 ทีม
ปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน "กีฬาเซียพเกมส์" ครั้งที่ 4 มีทีมส่งเข้าร่วมการแข่งขัน 4 ชาติ ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และลาว การแข่งขันครั้งนั้น ทีมไทย กับทีมมาเลเซีย เป็นคู่ชิงชนะเลิศ ผลของการแข่งขันปรากฏว่า ทีมไทย ได้ครองเหรียญทอง สามารถชนะทีมมาเลเซีย ทั้ง 3 ทีม
ปี พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) ประเทศพม่า เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน "กีฬาเซียพเกมส์" ครั้งที่ 5 ไม่มีการแข่งขันกีฬาเซปักตะกร้อ มีเพียงการโชว์แสดงการเล่นตะกร้อของแต่ละประเทศเท่านั้น ซึ่งประเทศไทย ได้นำทีมตะกร้อลอดห่วงไปแสดงโชว์
ปี พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) ประเทศไทย มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ชุดใหม่
ปี พ.ศ. 2512-2516 (ปี ค.ศ. 1969-1973) พลเอกประภาส จารุเสถียร เป็นนายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ปี พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) หลวงสัมฤทธิ์วิศวกรรม เป็นนายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
หลวงสัมฤทธิ์วิศวกรรม ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เพียงปีเดียวก็ลาออก เนื่องจากสุขภาพไม่ดี
ปี พ.ศ. 2518-2526 (ค.ศ. 1975-1983) พลโทผเชิญ นิมิบุตร เป็นนายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
การก่อตั้ง "สมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย"
ในช่วงที่ พลโทผเชิญ นิมิบุตร ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การพัฒนากีฬาเซปักตะกร้อภายในประเทศไทยอย่างมากมายหลายประการ ซึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญได้แก่
ปี พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) คณะกรรมการบริหารสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เห็นว่าสมาคมกีฬาไทยฯ มีความรับผิดชอบ "กีฬาไทย" หลายประเภท ดูแลไม่ทั่วถึง ไม่สามารถพัฒนา "กีฬาเซปักตะกร้อ" ให้ก้าวหน้า